สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 มี.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่า ส่วนภาคใต้มีฝนตกบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ จ. พระนครศรีอยุธยา (10 มม.) จ.เชียงใหม่(3 มม.) และ จ.เชียงราย (3 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 31,335 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 24,793 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการ ดังนี้
โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดพัทลุง ในพื้นที่บ้านเกาะนางทอง หมู่ที่ 8 ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง
โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะที่ 2 ณ บ้านสามแสน หมู่ที่ 5 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
โครงการศึกษาระบบประปาบาดาลโดยใช้เทคนิคการเจาะและประสิทธิภาพบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ระดับลึก ด้วยวิธีการเจาะแบบระบบหมุนดูดกลับ และแบบระบบหมุนตรง ในพื้นที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี (ระยะที่ 2) แก่ผู้ดูแลระบบประปาบาดาล และกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการดูแลบำรุงรักษาระบบให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
กอนช. ติดตาม โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.
สาขาอุดรธานี – หนองคาย – หนองบัวลำภู
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ลุยโครงการปรับปรุงขยายขอนแก่น-น้ำพอง อ.เมือง จ.ขอนแก่น และโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาอุดรธานี – หนองคาย – หนองบัวลำภู เร่งเสริมประสิทธิภาพการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อลูกค้ากว่า 100,000 ราย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงน้ำสะอาด ปลอดภัยอย่างทั่วถึง
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจากการขยายตัวของชุมชนการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น กปภ. จึงได้ดำเนินโครงการปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาขอนแก่น – น้ำพอง เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบประปาทั้งระบบ โดยจะมีการก่อสร้างระบบน้ำดิบ ระบบผลิตน้ำประปา และระบบจ่ายน้ำ ขนาดกำลังการผลิตวันละ 96,000 ลบ.ม./วัน สามารถรองรับลูกค้าได้กว่า 100,000 ราย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำไหลอ่อนบริเวณพื้นที่สูงรอบ ม.ขอนแก่น และพื้นที่เศรษฐกิจรอบสนามบินขอนแก่น โครงการก่อสร้างท่าเรือบก อ.น้ำพอง ตลอดจนสามารถให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนในพื้นที่ต.ศิลา บ้านค้อ แดงใหญ่และสำราญ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น อ.บ้านฝาง น้ำพอง และกระนวน จ.ขอนแก่น ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอย่างเพียงพอ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะศูนย์กลางความเจริญของท้องถิ่นและส่งเสริมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้เร่งติดตามโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาอุดรธานี-หนองคาย-หนองบัวลำภู ณ สถานีผลิตน้ำปะโค อ.เมือง จ.หนองคาย ซึ่งเป็นโครงการผลิตและส่งจ่ายน้ำประปาเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำ และการขยายตัวของสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินโครงการปรับปรุงขยายขอนแก่น-น้ำพอง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาอุดรธานี – หนองคาย – หนองบัวลำภู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อพื้นที่ที่ประสบปัญหา
2. สภาพอากาศ
หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 31,335 ล้าน ลบ.ม. (54%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 24,795 ล้าน ลบ.ม. (52%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,402 ล้าน ลบ.ม. (67%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,137 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,322 ล้าน ลบ.ม. (51%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 24,670 ล้าน ลบ.ม. (52%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 13,639 ล้าน ลบ.ม. (62%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,692 ล้าน ลบ.ม. (66%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดการสัมมนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการจัดการความรู้ด้านน้ำบาดาล (Groundwater Knowledge Management: KM) ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การจัดการฐานข้อมูลด้านน้ำบาดาล” ณ ห้องประชุมกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชั้น 8 อาคาร 1 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับบุคคลและองค์กรเพื่อขับเคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินการจัดทำคลังข้อมูล องค์ความรู้ และระบบสารสนเทศเพื่อการอนุรักษ์น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน