“ดีพร้อม มาร์เก็ตเทียปี 3” คาดสร้างมูลค่าได้กว่า 100 ล้านบาท
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เสริมศักยภาพการขายบนช่องทางไฮบริดให้ผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ DIPROM Marketeer เติม 5 ทักษะสำคัญให้ผู้ประกอบการสู่นักขายมือทอง โดยตั้งเป้ามีผู้เข้าอบรมไม่น้อยกว่า 1,000 คน มีกิจการเข้าสู่แพลตฟอร์ม DIPROM Marketplace 1,000 ร้านค้า และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังแนะ 3 ทักษะดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่ ทักษะด้านการสตรีมมิง หรือการนำเสนอสินค้าด้วยวิดีโอคอนเทนท์ หรือการไลฟ์สด ทักษะการใช้อินฟลูเอนเซอร์ และการทำการสื่อสารที่ต่อเนื่องเพื่อให้สินค้าหรือบริการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ช่องทางการบริโภคและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ถูกปรับไปสู่รูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันการจัดจำหน่ายสินค้าของหลาย ๆ ธุรกิจไม่อาจอยู่ได้แค่เพียงในช่องทางออฟไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องปรับตัวไปสู่การดำเนินธุรกิจแบบไฮบริด หรือการใช้ช่องทางออนไลน์ – ออฟไลน์ควบคู่กัน อย่างไรก็ตามการปรับตัวไปสู่รูปแบบดังกล่าวก็ยังพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายที่ยังขาดทักษะในด้านต่าง ๆ ประกอบกับดีพร้อม ได้ขานรับนโยบายจาก นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตได้ด้วยช่องทางดิจิทัล จึงเร่งเดินหน้าโครงการการพัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์ หรือ DIPROM Marketeer ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาศักยภาพการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการแบบออฟไลน์ – ออนไลน์ให้เกิดขึ้น
สำหรับ “ดีพร้อม มาร์เก็ตเทีย” ในปี 2566 ได้ดำเนินการผ่าน 5 กลไก โดยครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนการตลาดไปจนถึงการขายสินค้า ได้แก่ 1. DIPROM Training การจัดฝึกอบรมด้านการตลาดดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงช่องทางจำหน่ายออนไลน์ 2. DIPROM Marketing Area จัดตั้งพื้นที่สนับสนุนการค้าออนไลน์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำการตลาด อาทิ การถ่ายภาพสินค้า การสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดใจลูกค้า การไลฟ์สดเพื่อขายสินค้า 3. DIPROM Go online การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการตลาดจากทีมดีพร้อม ผ่านบริการ DIPROM Go ซึ่งเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดธุรกิจออนไลน์ 4. DIPROM Marketplace หรือตลาดดีพร้อม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ มีระบบการจัดทำบัตรสมาชิกเพื่อให้เป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 20,000 ราย ทั่วประเทศ และ 5. DIPROM Practice การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ จากออนไลน์สู่ออฟไลน์ เพื่อเป็นเวทีการทดสอบตลาดหลังจากผู้ประกอบการได้รับคำแนะนำด้านการตลาดมาแล้ว โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 8 – 10 มี.ค. 2566
ณ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่องาน อุตสาหกรรมแฟร์ ชิม ช้อป แชร์ DIPROM Marketplace Festival เป็นการจัดงานในรูปแบบผสมผสานการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ และ live สด เพื่อสร้างช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์ด้วย”
โดยดีพร้อม ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าอบรมด้านการตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่า 1,000 คน ผู้ที่ได้รับคำปรึกษาเชิงลึก 1,000 คน และมีกิจการเข้าสู่แพลตฟอร์ม DIPROM Marketplace 1,000 ร้านค้า ซึ่งจะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการที่มีความรู้ความเข้าใจการทำตลาดดิจิทัลและสามารถขยายเครือข่ายผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง เกิดการพัฒนาขึ้นในแต่ละชุมชน ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
นายใบน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมระบบนิเวศด้านดิจิทัลและความก้าวหน้าในด้านอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประทศไทยเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ไทยเป็นตลาดสำหรับผู้ที่ต้องการขยายฐานผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังนั้น นอกจากการเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ยังมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติมได้แก่
ทักษะด้านการสตรีมมิง หรือการนำเสนอสินค้าด้วยคอนเทนท์ หรือการไลฟ์สด เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ความนิยมดูวิดีโอต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เทียบเท่าการรับชมโทรทัศน์ทั้งการรีวิวสินค้า รายการประเภทให้ความบันเทิง การขายของของแม่ค้าออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งรับชมทั้งรูปแบบไลฟ์สดและรับชมย้อนหลัง โดยผู้ประกอบการควรเลือกการนำเสนอในรูปแบบที่มีความจริงใจ พร้อมทั้งให้สาระปนความสนุกและนำเสนอการขายโดยที่ผู้ชมไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด รวมถึงต้องหมั่นนำเสนอแบบต่อเนื่อง
การใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือกลุ่มผู้นำทางความคิด ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และเป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ในการบอกต่อกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ควรเลือกจากผู้ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ บนหลากหลายช่องทาง มีตัวตน – คาแรคเตอร์ในการนำเสนอที่ชัดเจน รวมทั้งทำให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและสนุกกับการขายของ
การสื่อสารที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายและผู้บริโภค อาทิ การตอบคอมเมนท์ในวิดีโอของสินค้า การทำคอนเทนท์ภาพ – บทความสั้นในช่วงเทศกาลสำคัญหรือตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นรายวัน เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้าหรือบริการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และทำให้ธุรกิจสามารถพบเห็นได้ในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการดังกล่าว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6871 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.diprom.go.th หรือ https://www.facebook.com/dipromindustry