สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 มี.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.สงขลา (13 มม.) จ. พระนครศรีอยุธยา (12 มม.) และ จ.เชียงใหม่ (4 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 32,182 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 25,516 ล้าน ลบ.ม. (53%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการงานจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในโครงการขุดลอกลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วง
ฤดูน้ำหลาก และเป็นการกำจัดวัชพืชที่เกิดตามธรรมชาติริมฝั่งคลอง ประชาชนมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรใน
ช่วงฤดูแล้ง และเป็นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 619 คน 137 ครัวเรือน ผลการดำเนินงานแล้วเสร็จ บริเวณบ้านร่องกะถิน ม.5 ต.บ้านกลาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
กอนช. ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อย สนับสนุนโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาอ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อยพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในการปลูกป่า และกิจกรรมอื่นๆ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก พร้อมทั้งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ไว้ใช้ใน
การอุปโภคบริโภค และการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้แล้ว
อ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อย มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำสันทำนบดิน กว้าง 8 เมตร ยาว 123 เมตร สูง 23 เมตร มีความจุเก็บกัก 196,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้นชนิด CHUTE SPILLWAY และอาคารท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม ตั้งอยู่ที่ หมู่ 10 บ้านห้วยโป่ง ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนกว่า 500 ไร่ และฤดูแล้งกว่า 100 ไร่ ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกษตรกร รวมถึงเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อีกด้วย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวอำนาจเจริญ ให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เก็บกักน้ำได้ประมาณ 7.43 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 12.95 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร รวมถึงสนับสนุนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัด อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองอำนาจเจริญ และยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ภายใต้แนวทาง “อำนาจเจริญ เมืองธรรมเกษตร” ได้อีกด้วย
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการลงพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดเจีย (เเก้มลิง) พร้อมระบบกระจายน้ำ บ้านฟ้าหยาด หมู่ที่ 4 ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ก่อสร้างปีงบประมาณ 2564(เงินกู้) ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าครัวเรือน ที่ได้รับผลประโยชน์ 545 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 2,012 ไร่
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 7 – 11 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับจะมีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 32,182 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 25,518 ล้าน ลบ.ม. (53%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,525 ล้าน ลบ.ม. (69%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,608 ล้าน ลบ.ม. (53%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 25,384 ล้าน ลบ.ม. (54%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,925 ล้าน ลบ.ม. (59%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,399ล้าน ลบ.ม. (63%)