สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 มี.ค. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยกับมีลมแรง ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อ่าวไทยตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สตูล (67 มม.) จ.ปัตตานี (65 มม.) และ จ.ยะลา (64 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 33,020 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 26,256 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลพนมรอก ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 เครื่อง บริเวณคลองพนมรอก-หนองไผ่ หมู่ที่ 9 ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ โดยสูบส่งน้ำมาเติมในสระระบบประปาของ อบต.พนมรอก จำนวน 2 แห่ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค มีประชาชนได้รับผลประโยชน์ จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1,4,9,10,13 จำนวน 1,504 ครัวเรือน 3,446 คน ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งเป็นไปตามมติ ครม. 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 ตามมาตรการที่ 2
เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และมาตรการที่ 3 ปฏิบัติการเติมน้ำ ให้กับแหล่งน้ำ พื้นที่การเกษตร และในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
สทนช. ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและการดำเนินการ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี65/66 ในพื้นที่ จ.นครพนม และสกลนคร
วันที่ 28 ก.พ. 66 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 ลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังเสียงขาดแคลนน้ำ และการดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ในพื้นที่ ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม และพื้นที่ ต.กุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร มีสถานการณ์ดังนี้
1. องค์การบริหารส่วนตำบลปลาปาก รายงานว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ด้านน้ำอุปโภค-บริโภค มีแนวโน้มคาดว่าจะเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากระบบประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอ เจาะบ่อบาดาลเจอน้ำเค็ม โดยทาง อบต.ได้จัดรถบรรทุกน้ำ ให้กับหมู่บ้านที่อาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค อีกทั้งมีปัญหาการกระจายน้ำสู่หมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำ การเข้าถึงแหล่งน้ำได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากขาดงบประมาณในการซ่อมแชม บำรุงคลองส่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำตื้นเขิน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ป่าสงวน
2. องค์การบริหารส่วนตำบลกุสุมาลย์ รายงานว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ด้านน้ำอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง มีปัญหาด้านระบบประปาหมู่บ้านที่ไม่เพียงพอและค่าไฟฟ้าที่สูง เนื่องจากต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการสูบน้ำประปามากักเก็บไว้ในหอถังสูง โดยทาง อบต. ได้วางแผนจะเปลี่ยนมาใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนในการสูบน้ำประปา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
การประปาส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ เตรียมรับมือภัยแล้งและกำหนดนโยบายการทำงานบริการประชาชน และตรวจระบบผลิตน้ำ RO (REVERSE OSMOSIS) ณ สถานีผลิตน้ำพรุกระจูด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้อ่าวไทยตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง ในวันที่ 2–5 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย กับมีลมแรง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,020 ล้าน ลบ.ม. (57%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,258 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,623 ล้าน ลบ.ม. (71%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ)
ปริมาณน้ำใช้การ 9, 917 ล้าน ลบ.ม. (55%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,264ล้าน ลบ.ม. (55%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,056 ล้าน ลบ.ม. (55%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,021ล้าน ลบ.ม. (58%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดโครงการอบรมเชิงปฎิบัติการจิตอาสาช่วยพระบิดาปฏิบัติการฝนหลวง ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้อาสาสมัครฝนหลวง มีความรู้ ความเข้าใจในโครงการพระราชดำริฝนหลวง และความรู้พื้นฐานของการปฏิบัติการฝนหลวง การบริการฝนหลวงในพื้นที่รับผิดชอบและให้ความรู้แก่ชุมชนได้อย่างถูกต้อง สร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครฝนหลวง ในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และการทำงานเป็นเครือข่ายของอาสาสมัครฝนหลวงประจำภาค ต่อไป