สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 มี.ค. 66
ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (95 มม.) จ.ยะลา (57 มม.) และ จ.ปัตตานี (57 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 33,194 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 26,408 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 28 ก.พ. – 2 มี.ค. 66
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก บริเวณ จ.สงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่) จ.ปัตตานี (อ.กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.รามัน) จ.นราธิวาส (อ.จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
กอนช. ติดตาม หน่วยงานวางแผนรองรับฤดูแล้ง
กรมชลประทาน จัดประชุมวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง คาดการณ์ปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
เมื่อวันที่ 27 ก.พ 66 กรมชลประทาน ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
จากการคาดการณ์ของ สสน. พบว่า ในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 66 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประณีต พร้อมตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยให้จัดทำแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถแบ็คโฮ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้
กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1 – 5 มี.ค. 66 บจะมีปริมาณฝนตกเพิ่มในพื้นที่ จึงขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้สอดคล้องกับสถานกการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ ตรวจสอบและรักษาระดับน้ำในพรุให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา แก้ไขปัญหาภัยแล้งตามนโยบายรัฐบาล ได้เข้าดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำตื้นให้กับราษฎรในพื้นที่บริเวณ บ้านน้ำหลง หมู่ 6 ตำบลวังซ้าย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุปโภคบริโภคให้กับราษฎร ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 80% โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 123 ครัวเรือน
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลงทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,194 ล้าน ลบ.ม. (57%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,411 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,644 ล้าน ลบ.ม. (72%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,978 ล้าน ลบ.ม. (55%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,264 ล้าน ลบ.ม. (55%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,056 ล้าน ลบ.ม. (55%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,021 ล้าน ลบ.ม. (58%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการสังเกตการณ์บ่อเติมน้ำใต้ดิน ภายใต้โครงการเติมน้ำใต้ดิน โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ และสุ่มตรวจสอบระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นรูปแบบบ่อวงคอนกรีต เพื่อทราบถึงสภาพจริงในพื้นที่ แนวทางการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ และผลกระทบต่าง ๆ จำนวน 2 แห่ง และรูปแบบเติมน้ำฝนผ่านหลังคา จำนวน 6 แห่ง ในพื้นที่ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง ตำบลน้ำคอก ตำบลบ้านแลง และตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง