สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ก.พ. 66
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นหนาวในตอนเช้า ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้าภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นครสวรรค์ (27 มม.) จ.สงขลา (19 มม.) และ จ.กำแพงเพชร (14 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 33,370 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 26,560 ล้าน ลบ.ม. (56%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 28 ก.พ. – 2 มี.ค. 66
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก บริเวณ จ.สงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่) จ.ปัตตานี (อ.กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.รามัน) จ.นราธิวาส (อ.จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ จ.สตูล-ตรัง เสริมความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้ ย้ำเร่งแก้ท่วมแล้งและเพิ่มแหล่งน้ำระดับชุมชนเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และแผนงานพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.ตรัง และได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
สทนช. กำกับ ติดตาม การดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำให้แล้วเสร็จตามแผน รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอาจมีบางพื้นที่ที่อาจประสบปัญหาฝนน้อยหรือทิ้งช่วงได้
จังหวัดตรัง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และเตรียมแผนรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำและรองรับความต้องการน้ำในอนาคต เพื่อยกระดับความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ รวมถึงสำรวจปัญหาด้านน้ำในทุกมิติ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ รายงานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาด้านน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องรวมถึงการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่องด้วย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เทศบาลตำบลศรีรัตนะ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ โดยตรวจวัดระดับน้ำบาดาล วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาล ติดตามการทำงานของระบบประปาบาดาล และได้สำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้น้ำ รับฟังสภาพปัญหาของพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของระบบประปาบาดาลให้มีประสิทธิภาพ
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้ตอนบนมีอากาศหนาวเย็น โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,370 ล้าน ลบ.ม. (58%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,562 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,668 ล้าน ลบ.ม. (72%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ)
ปริมาณน้ำใช้การ 10,039 ล้าน ลบ.ม. (55%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,412 ล้าน ลบ.ม. (56%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 11,913 ล้าน ลบ.ม. (54%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,959 ล้าน ลบ.ม. (58%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ (27 ก.พ.66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังบ้านพรุท่อม ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง จ.ตรัง เพื่อตรวจติดตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน และได้มอบหมายให้ สทนช. ติดตาม การดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำให้แล้วเสร็จตามแผน รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด