สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ก.พ. 66
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.พัทลุง (28 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (23 มม.) และ จ.พัทลุง (23 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 33,552 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 26,719 ล้าน ลบ.ม. (56%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 28 ก.พ. – 2 มี.ค. 66
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก บริเวณ จ.สงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่) จ.ปัตตานี (อ.กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.รามัน) จ.นราธิวาส (อ.จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
กอนช. ติดตามการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ
กรมชลประทาน ได้เร่งรัดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาวในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ประกอบด้วยโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 6 อ่างในจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ (1) อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว มีความจุ 43.70 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว (2) อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หนองบัวแดง ความจุ 46.90 ล้านลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2562-2567) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ถึง 40,000 ไร่ (3) อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม อ.บ้านเขว้า อ.หนองบัวระเหว ความจุ 70.21 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2562-2567) (4) อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) อ.ซับใหญ่ ความจุ 33.45 ล้าน ลบ.ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (2563-2566) (5) อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ภักดีชุมพล และหนองบัวแดง ความจุ 45.17 ล้าน ลบ.ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (2564-2568) และ (6) อ่างเก็บน้ำบ้านคลองเจริญ อ.หนองบัวแดง ความจุ 6.77 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2568 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2568-2571)
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ณ บ้านหนองโสน หมู่ที่ 12 ตำบลกุดดินจี่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และบ้านหนองแวง หมู่ที่ 7 ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1 – 3 องศาเซลเซียส โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,552 ล้าน ลบ.ม. (58%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,721 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,692 ล้าน ลบ.ม. (73%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,104 ล้าน ลบ.ม. (56%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,569 ล้าน ลบ.ม. (56%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 11,766 ล้าน ลบ.ม. (54%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,894 ล้าน ลบ.ม. (57%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดโครงการฝึกอบรมการสอบเทียบเครื่องมือตรวจสภาพอากาศฝนหลวง 2 ชนิด ประกอบด้วย เครื่องตรวจอากาศชั้นบนชนิดทำงานอัตโนมัติ ความถี่ 1680 MHz และเครื่องตรวจอากาศแบบชนิดคลื่นสั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาความรู้ ความเข้าใจสามารถใช้เครื่องมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาความสามารถในการใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสภาพอากาศได้อย่างถูกต้อง สามารถทำการสอบเทียบบำรุงรักษาและปรับแต่งเครื่องมือตรวจอากาศให้ได้มาตรฐาน