สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ก.พ. 66
ประเทศไทยตอนบนมีลมแรงและอุณหภูมิจะลดลง ในขณะที่ ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (20 มม.) จ.พัทลุง (15 มม.) และ จ.ภูเก็ต (14 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 33,888 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 27,018 ล้าน ลบ.ม. (57%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำชับหน่วยงานแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วานนี้ (24 ก.พ. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ติดตามการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ในพื้นที่ จ.อุดรธานี หนองคาย และเลย ย้ำให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ ประสานแผนการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานให้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 อย่างเคร่งครัด
จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และเตรียมการช่วยเหลือประชาชนให้ทันสถานการณ์ พร้อมเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) จ.อุดรธานี ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคายและก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย
ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในด้านอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ได้อย่างเต็มที่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการติดตามวัดระดับน้ำบาดาลและเก็บตัวอย่างน้ำบาดาล ในจังหวัดพิษณุโลกบริเวณวัดหนองโบสถ์ ตำบลแม่ระกา อำเภอวังทอง วัดบางกระทุ่ม ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม และพื้นที่สาธารณะ ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม เพื่อติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 25 – 28 ก.พ. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง อุณหภูมิจะลดลง 2 – 5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบาง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 2 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,887 ล้าน ลบ.ม. (58%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,020 ล้าน ลบ.ม. (57%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,727 ล้าน ลบ.ม. (73%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,140 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,231 ล้าน ลบ.ม. (56%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,863 ล้าน ลบ.ม. (57%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 11,475 ล้าน ลบ.ม. (52%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,763 ล้าน ลบ.ม. (55%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ (24 ก.พ. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และความก้าวหน้าโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย และเลย พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในการลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ ประสานแผนการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานให้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 อย่างเคร่งครัด และมอบหมายให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และเตรียมการช่วยเหลือประชาชนให้ทันสถานการณ์ พร้อมเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง