สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ก.พ. 66
ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน (24 มม.) จ.พระนครศรีอยุธยา (16 มม.) และ จ.พังงา (11 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 34,219 ล้าน ลบ.ม. (59%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 27,307 ล้าน ลบ.ม. (57%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำคำ ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังการขุดลอก เพิ่มรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การอุปโภค บริโภค และการเกษตร ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การกัดเซาะตลิ่ง โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 500 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 20,800 ไร่
กอนช. ติดตามการดำเนินการซ่อมแซมฝายยางคลองท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา
กรมชลประทาน เร่งหาแนวทางซ่อมแซมฝายยางท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากทำการตรวจสอบสภาพฝายยาง เพื่อเตรียมพร้อมการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 พบรอยฉีกขาดบริเวณรอยต่อที่ยึดติดกับฐานคอนกรีตด้านล่าง ซึ่งไม่สามารถช่อมแซมได้ จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ด้วยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อจัดซื้อวัสดุจัดทำทำนบชั่วคราว (กระสอบทรายBig Bag)
ปัจจุบันยังคงมีการเสริมทำนบชั่วคราวเป็นระยะๆ ตามสภาพการชำรุดที่เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา เป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราวระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับเปลี่ยนฝายยางเป็นการถาวรที่มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2566 เพื่อรื้อเปลี่ยนฝายยางเดิม พร้อมซ่อมบำรุงระบบสูบน้ำของฝายยางเป็นการถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุมในพื้นที่ของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างสูงสุดในระยะต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนจันจว้าวิทยาคม ม.2 ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบและแก้ไขระบบประปาบาดาล โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 34,219 ล้าน ลบ.ม. (59%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,309 ล้าน ลบ.ม. (57%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,770 ล้าน ลบ.ม. (74%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,141 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,352 ล้าน ลบ.ม. (57%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 27,146 ล้าน ลบ.ม. (57%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 11,194 ล้าน ลบ.ม. (51%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,639 ล้าน ลบ.ม. (54%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปาส่วนภูมิภาค สร้างจิตสำนึกที่ดีให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำผ่านโครงการอาสาประปาเพื่อปวงชนประจำปี 2566 ณ โรงเรียนปากน้ำปราณวิทยา อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยกิจกรรมมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตน้ำประปา วิธีตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค การตรวจสอบท่อประปาและซ่อมแซมท่อแตกท่อรั่วภายในบ้านเบื้องต้น พร้อมทั้ง สร้างความเข้าใจให้ตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้แก่เยาวชน รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมเป็นเครือข่าย “ฮีโร่น้อย…พิทักษ์น้ำ” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมอาสาเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล เช่น พบแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด พบท่อแตกท่อรั่วในสถานที่ต่างๆ พบการรั่วไหลของน้ำต้องทำอย่างไร เป็นต้น เพื่อช่วยลดน้ำสูญเสียและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำต่อไป