สศช.หวั่นเศรษฐกิจไทยถดถอย
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยหากการขยายตัวติดลบอีก เนื่องจากจีดีพีไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ขยายตัวเพียง 1.4% ต่ำที่สุดของปีแล้ว เนื่องจากการค้าโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของจีดีพี แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวแล้วก็ตาม แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์แถลงข่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ 3.2% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว เล็กน้อย ที่คาดการณ์ไว้ 3.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก จึงทำให้ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 1.4% ขยายตัวต่ำที่สุดของปีที่แล้ว โดยไตรมาสแรก ขยายตัว 2.2% ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.5% และไตรมาสที่ 3 ขยายตัวสูงถึง 4.6% ส่งผลให้ปี2565 เศรษฐกิจขยายตัว 2.6% แต่ยังสูงกว่า2564 ที่ขยายตัวในอัตรา 1.5%
“ตอนนี้ ก็ต้องจับตามองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก จะขยายตัวน้อยกว่าไตรมาส 4 หรือไม่ เพราะหากขยายตัวติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession”
การส่งออกของไทยยังคิดเป็นสัดส่วนที่สูงมาก กล่าวคือ สูงถึง 50-60% ของจีดีพี ดังนั้น หากการส่งออกมีผลกระทบเมื่อไหร่ จีดีพีไทยก็จะลดลง แม้ว่า การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวแล้วก็ตาม แต่ยังมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับส่งออก
ทั้งนี้ ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยปี2563 ติดลบ 6.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มเป็นบวกปี2564 ขยายตัว 19.2% และปี2565 ขยายตัว 5.5% แต่ปีนี้ คาดว่า จะติดลบ 1.6% มูลค่า 298,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่า ขยายตัว 1% ส่วนการนำเข้าคาดว่าหดตัว 2.1% ที่มูลค่า 268,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6%
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวน 28 ล้านคน จากเดิม 23 ล้านคน สร้างรายรับ 1.31 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริป ประมาณ 70,000 บาท จากเดิมปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อหัวต่อทริป ซึ่งในปีนี้ ททท.จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปเพิ่มมากขึ้น
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น น่าจะลดลงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้ว แต่ยังคงมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและการเยียวยาต่างๆ เป็นต้น