สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ก.พ. 66
ภาคเหนือ มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีลมแรง
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ กรุงเทพมหานคร (104 มม.) จ.เชียงใหม่ (101 มม.) และ จ.อุทัยธานี (94 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 35,327 ล้าน ลบ.ม. (61%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 28,273 ล้าน ลบ.ม. (59%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการโครงการจ้างซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว และขนาด 30 นิ้ว จำนวน 9 เครื่อง ปัจจุบันผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 95 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จเครื่องสูบน้ำจะสามารถ นำไปใช้บรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำช่วงฤดูแล้ง ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคตะวันออก ต่อไป
กอนช. ติดตาม การเตรียมความพร้อมรับมือ สถานการณ์น้ำ ของ กรุงเทพมหานคร โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้
ติดตามสภาพอากาศ และพร่องน้ำตามคูคลองต่างๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำ ในขณะที่มีฝนตกจะเดินเครื่องสูบน้ำของอุโมงค์ระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำทุกแห่ง พร้อมทั้งควบคุมระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่อาจจะตกลงมาอีกครั้ง
ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างในพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีงานที่สำคัญที่สำนักการระบายน้ำอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ งานระบบป้องกันน้ำท่วม บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) งานก่อสร้างเขื่อนคูน้ำริมถนนสวรรคโลกและคูน้ำริมถนนพระรามที่ 5 และงานระบบรวมรวมน้ำเสีย
วางแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลองและแม่น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยได้ศึกษาและออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียและรวบรวมน้ำเสียธนบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียและรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ชานเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และบางส่วนของเขตตลิ่งชัน ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถกรุงเทพมหานคร
ประชุมกับสำนักงานเขตในพื้นที่ฝั่งธนบุรีทั้ง 15 เขต เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมประจำปี พ.ศ. 2566 และวางแผนการประสานงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งธนบุรี โดยรายงานปัญหาของแต่ละพื้นที่ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรุงเทพมหานครติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาน้ำเสียและรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ชานเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และบางส่วนของเขตตลิ่งชัน
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อนึ่ง คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงวันที่ 16 – 18 ก.พ. 66 ทำให้ภาคเหนือมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 35,327 ล้าน ลบ.ม. (61%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 28,273 ล้าน ลบ.ม. (59%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,912 ล้าน ลบ.ม. (77%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,142 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,738 ล้าน ลบ.ม. (59%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 28,093 ล้าน ลบ.ม. (59%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 10,203 ล้าน ลบ.ม. (47%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,219 ล้าน ลบ.ม. (49%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยมีกิจกรรมตักขยะในคลอง ตกแต่งต้นไม้ เก็บขยะและวัชพืช เพื่อปรับภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณให้เป็นระเบียบสวยงาม ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป