สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ก.พ. 66
ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะนี้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตราด (49 มม.) จ.ชลบุรี (40 มม.) และ จ.ชัยภูมิ (39 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 36,118 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 28,970 ล้าน ลบ.ม. (61%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ เพื่อสูบระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ บริเวณบ้านหนองหวาย ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
สทนช.เดินหน้าศึกษาแผนบูรณาการ แก้ปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้งซ้ำซาก พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูน เล็งดัน 6 โครงการนำร่องแก้ปัญหาวิกฤตพื้นที่เฉพาะ เชียงใหม่-ลำพูนสร้างสมดุลน้ำอย่างยั่งยืน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูน
จากการลงพื้นที่บริเวณโครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการเร่งด่วนของแผนบูรณาการ โดยข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จะพบว่าน้ำในคลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก มีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่หลายชนิดและมีค่าสูงกว่าปกติ ทั้งยังมีสีขุ่นดำและมีกลิ่นเหม็น สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
ดังนั้น การแก้ปัญหาเร่งด่วนคือการจัดการด้านคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ 8 อปท. พร้อมกับการปรับปรุงลำน้ำและภูมิทัศน์คลองแม่ข่าตลอดทั้งสาย ซึ่งเมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้คุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าดีขึ้นและมีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวกต่อการบำรุงรักษา
ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการ ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ สทนช. จะต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขเชิงบูรณาการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 11 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย ณ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา และโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี เพื่อบำบัดน้ำเสียจากแหล่งชุมชน ลดความเน่าเสียของน้ำในคลองต่าง ๆ และลดมลภาวะทางน้ำต่อแม่น้ำเจ้าพระยา
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันโดยมีฝนฟ้าคะนองได้บางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 36,118 ล้าน ลบ.ม. (62%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 28,970 ล้าน ลบ.ม. (61%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,004 ล้าน ลบ.ม. (79%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,143 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,023 ล้าน ลบ.ม. (61%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 28,779 ล้าน ลบ.ม. (61%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 9,499 ล้าน ลบ.ม. (43%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,921 ล้าน ลบ.ม. (46%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดฝึกอบรม หลักสูตร“การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดทำสื่อสารสนเทศด้านน้ำบาดาล” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการจัดทำสื่อสารสนเทศด้านน้ำบาดาลและสามารถปฏิบัติงานในการจัดการจัดทำสื่อสารสนเทศด้านน้ำบาดาลได้อย่างถูกต้อง และสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล จังหวัดกรุงเทพมหานคร