สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 ก.พ. 66
ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ปัตตานี (159 มม.) จ.นราธิวาส (125 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (74 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 37,073 ล้าน ลบ.ม. (64%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 29,796 ล้าน ลบ.ม. (62%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามมติ ครม. วันที่ 29 พ.ย 65 โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว 4 ครั้ง 129,068 ครัวเรือน เป็นเงิน 961,024,000 บาท (20, 24, 31 ม.ค. 66 และ 1 ก.พ. 66) และเตรียมโอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ดังนี้
ครั้งที่ 5 (3 ก.พ 66) ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ เชียงราย นนทบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอุทัยธานี จ่ายเงิน 57,317 ครัวเรือน เป็นเงิน 330,675,000 บาท
ครั้งที่ 6 (3 ก.พ 66) ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 17 จังหวัด สุโขทัย ลำปาง พิจิตร พะเยา พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เพชรบุรี ภูเก็ต และสตูล จ่ายเงิน 59,554 ครัวเรือน เป็นเงิน 372,540,000 บาท
ครั้งที่ 7 (6 ก.พ. 66) ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ตาก ปทุมธานี และนครปฐม จ่ายเงิน 27,175 ครัวเรือน เป็นเงิน 173,425,000 บาท
ทั้งนี้ ปภ.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล 20 จังหวัด 155,416 ครัวเรือน จำนวนเงิน 898,360,000 บาท ได้แก่ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร หนองบัวลำภู กรุงเทพมหานคร ระนอง น่าน ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ เชียงราย และนครนายก
สวทช. จับมือ มรภ.ลำปาง ลงนามความร่วมมือสู่ชุมชน มุ่งเน้นเกษตร บริหารจัดการน้ำ กำลังคน
วันที่ 1 ก.พ. 66 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มุ่งเน้น 3 ด้านคือ การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนากำลังคน นำร่องด้วยฐานข้อมูลด้านคุณภาพน้ำประปาที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วย
นาโนเทคโนโลยี ในโรงเรียนพื้นที่ลำปางกว่า 100 แห่ง เพื่อสร้างนวัตกรคุณภาพน้ำ 100 คน รวมถึงนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปางกว่า 270 ครัวเรือน ด้วยเป้าหมาย 2 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดโรค ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการเข้าถึงน้ำสะอาด เพิ่มคุณภาพน้ำและคุณภาพชีวิต
การมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยสาระสำคัญ คือ การบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการบำบัดน้ำเสียด้วยองค์ความรู้ทางเคมี และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่สร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยขั้นสูงและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเชิงพื้นที่ โดยเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ โดยเพาะการบำบัดน้ำเสียด้วยองค์ความรู้ทางเคมีนั้น ปกติการบำบัดน้ำเสียจะใช้ระบบกรองต่างๆ ซึ่งบางครั้ง ก็จำเป็นต้องใช้ไส้กรองพิเศษ อาทิ เซรามิก ซึ่งเป็นเคมีขั้นสูงมาช่วยแก้ปัญหาสารปนเปื้อนต่างๆ ที่ระบบกรองธรรมดาอาจจะไม่เพียงพอ เพราะปัญหาสำคัญของไทยคือ คุณภาพน้ำ จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค
การนำความรู้สู่การปฏิบัติ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำองค์ความรู้ด้านเคมีทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์มาต่อยอดใช้ประโยชน์ในแง่การบริหารจัดการน้ำที่สำคัญอย่างมาก และต่อยอดเรื่องของน้ำเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแต่ละพื้นที่เพื่อดูความเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่จะสามารถนำผลการวิเคราะห์ไปขยายผลเพื่อดูความเสี่ยงเชิงสุขภาพ ร่วมกับหน่วยงานทางการแพทย์ต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ตรวจสอบ บำรุงรักษา และติดต่อประสานงานข้อมูลระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 14 แหล่งน้ำ (28 สถานี) เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำในแหล่งน้ำใช้ในการประเมินปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบันและปริมาณน้ำที่คาดว่าจะขาดแคลนในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมอ่าวไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วยสำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 37,073 ล้าน ลบ.ม. (64%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 29,796 ล้าน ลบ.ม. (62%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,133 ล้าน ลบ.ม. (81%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,144 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,408 ล้าน ลบ.ม. (63%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 29,590 ล้าน ลบ.ม. (62%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 8,536 ล้าน ลบ.ม. (39%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,502 ล้าน ลบ.ม. (41%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ลงพื้นที่ชุมชนบ้านร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน และชุมชนบ้านดงผ้าปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำโครงสร้างท่อลอดเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเกษตรนอกฤดู การฟื้นฟูเขาหัวโล้น การขยายผล และประโยชน์จากความพร้อมของระบบสื่อสาร การนำดิจิทัลมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพื้นที่ป่า ลดความแห้งแล้งในพื้นที่ เปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น