สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ม.ค. 66
ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.นราธิวาส (69 มม.) จ.ปัตตานี (54 มม.) และ จ.พัทลุง (23 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 37,679 ล้าน ลบ.ม. (65%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 30,328 ล้าน ลบ.ม. (63%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร บริเวณทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำหนดลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ได้กำหนดการตรวจราชการติดตามการบริหารจัดการน้ำและแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี ในวันที่ 1 ก.พ. 66
ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ เร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ตามมติ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 โดยกรมเจ้าท่า เร่งกำจัดผักตบชวา วัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ 24,000 ตัน บริเวณแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสิน ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้เพื่อการเกษตร พร้อมทั้งขุดลอกแม่น้ำภาคกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี แม่น้ำป่าสัก อ.เมือง จ.สระบุรี แม่น้ำแม่กลอง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และแม่น้ำท่าจีน อ.บางเลน จ.นครปฐม
ทั้งนี้ กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่เสี่ยง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินงานโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นและติดตามการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ เพื่อก่อสร้างสถานีสังเกตการณ์น้ำบาดาล และสำรวจสภาพความสมบูรณ์ของบ่อ พร้อมให้คำแนะนำในการบำรุงรักษาบ่อเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ณ อำเภอหนองโสน จังหวัดพิจิตร และอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนตกสะสม
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 37,679 ล้าน ลบ.ม. (65%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 30,328 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,204 ล้าน ลบ.ม. (83%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,146 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,637 ล้าน ลบ.ม. (64%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 30,109 ล้าน ลบ.ม. (64%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 8,000 ล้าน ลบ.ม. (37%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,262 ล้าน ลบ.ม. (38%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดประชุมปรึกษาหารือระดับประเทศ เรื่อง กฎและระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยการเดินเรือและป้องกันมลพิษในแม่น้ำโขงระหว่าง สปป.ลาว และไทย พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอร่าง MOU และร่างรายงานฉบับสุดท้ายเกี่ยวกับกฎและระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยการเดินเรือและการป้องกันมลพิษในแม่น้ำโขงระหว่าง สปป.ลาว และไทย ต่อคณะทำงานกำกับดูแลโครงการจัดทำร่างระเบียบปฏิบัติความปลอดภัยการเดินเรือแม่น้ำโขง พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ ต่อร่าง MOU และร่างรายงานฉบับสุดท้ายฯ ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน แอนด์ ทาวเวอร์ส เขตบางรัก กรุงเทพฯ