สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ม.ค. 66
ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.ปัตตานี (45 มม.) จ.นราธิวาส (36 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (35 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 38,005 ล้าน ลบ.ม. (66%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 30,612 ล้าน ลบ.ม. (64%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมเจ้าท่า ได้สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร ในการแก้ปัญหากำจัดผักตบชวาและวัชพืช บริเวณแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสิน ต.เขาท่าพระ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท โดยแหล่งน้ำดังกล่าว ประชาชนใช้ประโยชน์ประมาณ 1,500 ครัวเรือน มีวัชพืชกีดขวางทางเรือเดินประมาณ 24,000 ตัน ทำให้แหล่งน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสิน เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ โดยกรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสิน อย่างเร่งด่วน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน วางแผนการบริหารจัดการน้ำ
การประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้เสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ
พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบวิกฤติอุทกภัยและภัยแล้งบ่อยครั้งจากหลายปัจจัย ได้แก่ แหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอ การบุกรุกแหล่งน้ำสาธารณะ การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำมีจำกัด การบุกรุกพื้นที่ชุมชน และการตื้นเขินจากการตกตะกอนในลำน้ำ สทนช. จึงเห็นควรทำการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยการศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการขึ้น เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลร่างผังน้ำฯและรายการประกอบร่างผังฯ ข้อมูลสนับสนุนผังน้ำที่ได้ผ่านการร่วมกันปรับปรุงแก้ไขมาแล้ว และเพื่อจัดทำผังน้ำและรายการประกอบสำหรับนำไปใช้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ในพื้นที่ผังน้ำได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำของผังน้ำ และช่วยลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะน้ำท่วมต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองทัพเรือจัดกำลังพลพร้อมรถยนต์บรรทุกน้ำ เข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง โดยบรรทุกน้ำจำนวน 1,300 ลิตร เพื่อการอุปโภค บริโภค ให้ครอบครัวประชาชน หมู่ 2 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,005 ล้าน ลบ.ม. (66%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 30,615 ล้าน ลบ.ม. (64%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,244 ล้าน ลบ.ม. (84%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,146 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,747 ล้าน ลบ.ม. (65%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 30,387 ล้าน ลบ.ม. (64%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,732 ล้าน ลบ.ม. (35%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,141 ล้าน ลบ.ม. (37%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ครั้งที่1/2566 ในโครงการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห้วยก้านเหลืองพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หมู่ 7 บ้านเหล่าเสน ต.บก อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ ณ ศาลากลางบ้านเหล่าเสน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โครงการได้รับทราบถึงขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จคาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 120ไร่ ประชากรได้รับประโยชน์กว่า 100 ครัวเรือน