สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ม.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรงภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สงขลา (54 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (49 มม.) และ จ.พัทลุง (45 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 38,161 ล้าน ลบ.ม. (67%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 30,758 ล้าน ลบ.ม. (64%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ให้ความรู้แนวทางการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูเพิ่มประสิทธิภาพระบบโครงข่ายแหล่งน้ำ 2 ตำบล (บุ่งคล้า, ลานบ่า) พร้อมก่อสร้างระบบกระจายน้ำ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ตำบลบุ่งคล้า, ลานบ่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 ต.บุ่งคล้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ความรู้ในเรื่องการใช้น้ำ
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการดูแลรักษาแหล่งน้ำ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยมี อบต.บุ่งคล้า อบต.ลานบ่า ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ใช้น้ำโครงการฯ เข้าร่วมรับฟัง
สทนช. ร่วมพิจารณาจัดลำดับความสำคัญแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อใช้พิจารณาขอตั้งงบประมาณปี 2567
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 66 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 315/2565 ลงวันที่ 9 ธ.ค. 65 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 1.2 ผลการดำเนินงานแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รวมทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณาและหลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ(ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อหน่วยงานจะได้ส่งคำขอตั้งงบประมาณให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 27 ม.ค. 66 นี้ ตามปฏิทินงบประมาณ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ สทนช. พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด และส่งให้สำนักงบประมาณ ใช้ในการพิจารณาคำขอตั้งงบประมาณปี 2567 ตามระเบียบต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการใช้ประโยชน์โครงการพัฒนาน้ำบาดาล ณ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย บ้านน้ำดิบสามัคคี หมู่ 12 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง บ้านน้อย หมู่ 1 ตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่าและโรงเรียนบ้านวังหม้อ หมู่ 1 ตำบลบ้านแอ่น อำเภอดอยเต่า
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมถึงประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออกและภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,161 ล้าน ลบ.ม. (66%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 30,758 ล้าน ลบ.ม. (64%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,257 ล้าน ลบ.ม. (84%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,146 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,806 ล้าน ลบ.ม. (65%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 30,529 ล้าน ลบ.ม. (64%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,593 ล้าน ลบ.ม. (35%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,081ล้าน ลบ.ม. (36%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปานครหลวงร่วมกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำชุมชนและสร้างแนวกันไฟแบบมีส่วนร่วม ณ บ้านบนเขาแก่งเรียง พื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ ผู้นำชุมชน จิตอาสาจากหน่วยงานภาคี และชาวบ้านบนเขาแก่งเรียง ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ ปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำเดิมของชุมชน ให้สามารถเก็บกักน้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนต้นน้ำและหน่วยงานภาคี ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำ