สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ม.ค. 66

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (30 มม.) จ.พัทลุง (25 มม.) และ จ.ตรัง (13 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 38,614 ล้าน ลบ.ม. (67%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,156 ล้าน ลบ.ม. (65%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการงานจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ ในโครงการขุดลอกลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และเป็นการกำจัดวัชพืชที่เกิดตามธรรมชาติริมฝั่งคลอง อีกทั้งประชาชนได้มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และเป็นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน มีราษฎรได้รับผลประโยชน์ จำนวน 586 คน 154 ครัวเรือน ผลการดำเนินงานแล้วเสร็จ 100%
กอนช. ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วง 24 -30 ม.ค. 66
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งเตือนบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก นั้น
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคใต้ ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ และกรมชลประทานได้ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำได้เตรียมพร้อมประจำจุดพื้นที่เสี่ยงแล้ว สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการงานจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในโครงการขุดลอกลำน้ำ บริเวณ ตำบลบ้านกลาง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและเป็นการกำจัดวัชพืชที่เกิดตามธรรมชาติริมฝั่งคลอง อีกทั้งประชาชนได้มีแหล่งน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และเป็นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน โอยมีราษฎรได้รับผลประโยชน์ จำนวน 586 คน 154 ครัวเรือน
1.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพื่อสูบน้ำดิบจากลำห้วยไส้ไก่ไปกักเก็บยังอ่างเก็บน้ำหนองฮาง บ้านหนองฮาง ตำบลหนองขาม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำไปใช้สำหรับผลิตน้ำประปาต่อไป
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 25 – 26 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง
โดยอุณหภูมิจะลดลง 5 – 7 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้ ส่งผลทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,614 ล้าน ลบ.ม. (67%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,156 ล้าน ลบ.ม. (65%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,311 ล้าน ลบ.ม. (85%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,147 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,977 ล้าน ลบ.ม. (66%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 30,919 ล้าน ลบ.ม. (65%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,190 ล้าน ลบ.ม. (33%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,902ล้าน ลบ.ม. (34%)