บสย. ร่วมขับเคลื่อน SMEs ไทย ยกระดับเกษตรแปรรูป “โกลด์มิลค์”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการ “กระทรวงการคลัง ขับเคลื่อน SMEs ไทย สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ” ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้นำผู้บริหาร บริษัท โกลด์มิลค์ จำกัด เข้าพบเพื่อประชาสัมพันธ์ การดำเนินกิจการฟาร์มโคนม “โกลด์มิลค์” ซึ่งมีการพัฒนาองค์กรและยกระดับสู่เกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมการก้าวสู่ BCG Model เพื่อธุรกิจยั่งยืน
โดยมี บสย. เป็นกลไกผลักดัน “ค้ำประกันสินเชื่อ” สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ปัจจุบัน “โกลด์มิลค์” ได้พัฒนาธุรกิจยกระดับจากนมโรงเรียน สู่ฟาร์มโคนมมาตรฐานระดับโลกเป็นผลสำเร็จ โดยนำหลักการบริหารจัดการมาใช้ตลอดซัพพลายเชนร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสู่ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียและมีมาตรฐานการผลิตระดับโลก โดยได้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนาคุณภาพน้ำนมวัว ในโครงการผลิตน้ำนมโคสายพันธุ์เกิร์นซีย์ ซึ่งเป็นโคนมสายพันธุ์เก่าแก่และหายาก ที่ยังคงยึดโยงคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกร สู่ Smart Farmer เต็มตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมนม ซึ่ง บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน เกือบ 20 ปี วงเงินรวมกว่า 100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการตามมาตรการของรัฐบาลถึง 70% โดยล่าสุดได้รับอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อปี 2564 และ 2565 จากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู
บริษัท โกลด์มิลค์ จำกัด วางเป้าหมายสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้ BCG Model เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ก้าวไปสู่ Zero waste ทั้งในส่วนของเครื่องจักรการผลิตบรรจุภัณฑ์ ลดมลภาวะ ใช้พลังงานทดแทน ใช้แก๊ส เป็นเชื้อเพลิง ลดเม่า ควันเสียจากโรงงาน บ่อบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลโดยใช้ผนังห้องเย็นเก่ามาเป็นกำแพงป้องกันเสียง และระบบการจัดการของเสียในฟาร์มและนำน้ำไปรดแปลงหญ้าเลี้ยงวัวบนพื้นที่ 150 ไร่ โดยทุกกระบวนการและขั้นตอนสู่ BCG Model บสย. ยังพร้อมให้การสนับสนุน ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ด้วย 3 บทบาทหลักของ บสย. คือ 1.เพิ่มโอกาสและเติมเต็มศักยภาพทางการเงิน 2.เติมความรู้ และ 3. บทบาทการให้คำปรึกษาในการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้ บสย. เพื่อช่วยประคับประคองให้ธุรกิจยังเดินหน้าได้ต่อไป