สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ม.ค. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (96 มม.) จ.ยะลา (58 มม.) และ จ.สงขลา (28 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 38,986 ล้าน ลบ.ม. (67%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,475 ล้าน ลบ.ม. (66%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
เฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำในช่วงวันที่ 21–26 ม.ค. 66 โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุด
ในวันที่ ในวันที่ 23–24 ม.ค. 66 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำบริเวณปากแม่น้ำ ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส
คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 6,200 ล้านบาท เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 66 ครม.อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จ.น่าน วงเงินงบประมาณ 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี ปีงบประมาณ 2567-2573 เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของประชาชนในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมถึงสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดได้
โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จ.น่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมู่ที่ 2 ต.ผาทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน มีพื้นที่รวม 1,733 ไร่ 84 ตรว. พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและป่าน้ำสวด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว และกรมชลประทานได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเรียบร้อยแล้ว
โครงการนี้ เป็นการก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ความจุ 52.31 ล้าน ลบ.ม. ความยาวเขื่อน 845 ม. ความสูงเขื่อน 81.5 ม. ความกว้างสันเขื่อน 12 ม. พร้อมอาคารประกอบ เช่น อาคารส่งน้ำ อาคารทางระบายน้ำล้น และระบบชลประทานแบบท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำคอนกรีต ความยาวรวม 88.13 กม. สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ มีพื้นที่ชลประทานเกิดขึ้นจำนวน 35,558 ไร่ ครอบคลุม 8 ตำบล ของ จ.น่าน ได้แก่ ต.ผาทอง ผาตอ ป่าคา แสนทอง ศรีภูมิ ริม ตาลชุม และเทศบาลตำบลท่าวังผา มีประชาชนได้รับประโยชน์ 6,305 ครัวเรือน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลดงมอน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 3) ณ ตำบลบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,986 ล้าน ลบ.ม. (67%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,475 ล้าน ลบ.ม. (66%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,364 ล้าน ลบ.ม. (86%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,148 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,133 ล้าน ลบ.ม. (67%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,228 ล้าน ลบ.ม. (66%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,832 ล้าน ลบ.ม. (31%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,731 ล้าน ลบ.ม. (32%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
GISTDA จัดเสวนา “ดาวเทียมสำรวจโลกกับการพัฒนาประเทศ” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความพร้อม วางแผนสร้างและพัฒนาดาวเทียมฝีมือคนไทย สร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศ และต่อยอดองค์ความรู้ในการเตรียมการพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลกรุ่นต่อไป ทั้งยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดาวเทียมที่จำเป็นต่อภารกิจต่าง ๆ เสวนาดังกล่าวแบ่งกลุ่มตามภารกิจสำคัญของประเทศได้แก่ ภารกิจความมั่นคง ภารกิจเกษตรกรรม ภารกิจการจัดการผังเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ภารกิจเฝ้าระวังและติดตามภัยธรรมชาติและทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม และภารกิจทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ตลอดจนหารือปัญหาอุปสรรคที่พบจากการใช้ข้อมูลดาวเทียม ซึ่ง GISTDA และทีมที่เกี่ยวข้องจะวิเคราะห์ทางเทคนิคและวิศวกรรม เพื่อสรุปคุณสมบัติที่เหมาะสม นำไปออกแบบระบบดาวเทียมสำรวจโลกรุ่นต่อไปให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง