คลังร่วมถก “WEF” ลุยท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
การประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในห้วงการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการเสวนาในฐานะผู้เสวนาหลัก (Lead Speaker) ภายใต้หัวข้อการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Traveling Again, Differently) และหัวข้อพันธสัญญาสีเขียวของอาเซียน (ASEAN’s Green Promise) โดยมีผลการเสวนา สรุปได้ ดังนี้
1. การเสวนาหัวข้อการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข อาทิ การดำเนินการภายใต้ Phuket Sandbox และหลังจากสถานการณ์
การแพร่ระบาดคลี่คลาย ไทยมีนโยบายในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เข้าถึงชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย และลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก รวมถึงสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายและใช้เวลาในประเทศให้มากขึ้น โดยใช้ยุทธศาสตร์ 5F (Food, Fashion, Festival, Fighting (Thai Boxing), Film) และเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยอาจพิจารณาดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) ในอนาคต เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในธุรกิจการบินด้วย
2. การเสวนาหัวข้อพันธสัญญาสีเขียวของอาเซียน การเสวนาเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และความตกลงปารีส ซึ่งไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ 2022 ครั้งที่ 27 (The 27th Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP27) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ในการนี้ ไทยจึงได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model) รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) อาทิ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bond) การออกตราสารหนี้ข้ามพรมแดน โดยอนุญาตให้บริษัทต่างชาติออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในสกุลเงินบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน ได้แก่ Mr. Ryan McInerney ประธานบริษัท Visa เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ในระบบภาษีและระบบการชำระเงิน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และการหารือทวิภาคีกับ Mr. Sigve Brekke ประธานบริษัท Telenor Group เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโทรคมนาคม