โควิดเป็นศูนย์กดดันเศรษฐกิจจีนปี 2565 โตที่ 3.0% ต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี
ในปี 2566 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แต่คาดว่าระดับการเติบโตจะยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาทางรัฐภูมิศาสตร์ที่ยังคงอยู่
เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 4/2565 ขยายตัวมากกว่าคาดที่ 2.9%YoY ทั้งปี 2565 เติบโตที่ 3.0% ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5%
ในไตรมาส 4/2565 เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 2.9%YoY จาก 3.5% YoY ในไตรมาส 3/2565 แต่สามารถเติบโตได้ดีกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 1.6%1/ แม้ว่าจีนจะเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเร่งตัวในช่วงเดือนพ.ย.65 จนทำให้กลับมามีการล็อกดาวน์ในบางจุดในเมืองสำคัญ เช่น เจิ้งโจว กดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ลดต่ำลงต่อเนื่องอยู่ที่ 85.5 (เดือนพ.ย.65) สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีนรุนแรงขึ้นจนเกิดการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงจนทำให้จีนมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในหลายมาตรการสำคัญ เช่น ยกเลิกการกักตัว รวมถึงจีนยังมีการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์
โดยปัจจัยหนุนสำคัญของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2565 มาจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่สะท้อนผ่านตัวเลขยอดค้าปลีกยังคงหดตัว แต่การทยอยผ่อนคลายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงปลายปี 2565 ช่วยหนุนให้ยอดค้าปลีกหดตัวน้อยลงกว่าในไตรมาส 2/2565 ที่มีการปิดเมืองใหญ่ โดยในเดือนธ.ค.65 หดตัวน้อยกว่าคาดอยู่ที่ -1.8% YoY จาก -5.9% ในเดือนพ.ย.65 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการซื้อยารักษาโรค
ตลอดทั้งปี 2565 เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ที่ 3.0% ได้รับปัจจัยหนุนหลักมาจากการลงทุน โดยตลลอดทั้งปี การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตอยู่ที่ 5.1% YoY ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคได้รับปัจจัยกดดันจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (-0.2% YoY) ด้านการส่งออกชะลอตัวในช่วงปลายปีจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยทั้งปีเติบโตได้เพียง 2.0% YoY
การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์จะเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนปี 2566 ให้ฟื้นตัวดีขึ้น นำโดยการใช้จ่ายภายในประเทศ ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมาก
สถานการณ์การเปิดเมืองของจีนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงในเรื่องของระบบสาธารณสุข โดยอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและชนิดของวัคซีน (จีนใช้วัคซีนในประเทศที่เป็นเชื้อตาย) ดังนั้น ในช่วงแรกของการผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงน่าจะยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากประเด็นความพอเพียงด้านสาธารณสุขหลังจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังเป็นแรงกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี หลังผ่านเทศกาลตรุษจีนไปอีก 1-2 เดือน คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดของการระบาดไปแล้วและทยอยลดลง ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มเกิดขึ้นในไตรมาส 2/2566 โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มีแนวโน้มเร่งตัวกลับมาได้เพิ่มขึ้น เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว นำโดยการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีสัดส่วนสำคัญถึง 52.4% ของ GDP (ตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2565) เมื่อย้อนกลับไปดูในปี 2564 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนกลับมาอยู่ในระดับต่ำหลังเผชิญการระบาดอย่างหนักในปี 2563 ยอดค้าปลีกของจีนฟื้นตัวได้ถึง 12.5% YoY ในปี 2565 จากหดตัวที่-3.9%YoY ในปี 2563 หนุนให้ตัวเลข GDP ในปี 2564 เติบโตได้ถึง 8.1% YoY(ยังไม่มีการเปิดเมือง)
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ในไตรมาส 2/2566 ทั้งปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำ และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนจะเผชิญความเสี่ยงที่สำคัญหลายด้านที่ต้องจับตา คือ
สถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยออกมา ทั้ง 10 มาตรการที่เข้ามาช่วยเรื่องสภาพคล่อง และจีนเตรียมที่จะผ่อนปรนนโยบาย Three Red Lines เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นนโยบายจำกัดการก่อหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์และกดดันภาคอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2564 แต่จะเห็นว่าสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาบ้านยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนธ.ค.65 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -1.5%YoY นอกจากนี้ในปี 2566 บริษัทภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระทั้งหนี้ในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 238 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็น 0.8% ของ GDP) แม้เป็นระดับที่ต่ำกว่าในปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะยังกดดันความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน เนื่องจากครัวเรือนจีนกว่า 70% มีสัดส่วนความมั่งคั่ง (Wealth) อยู่ในรูปของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์
ความเสี่ยงทางรัฐภูมิศาสตร์ที่ยังตึงเครียดทั้งสถานการณ์ในไต้หวัน และความขัดแย้งกับสหรัฐฯ โดยในช่วงเดือนต.ค.65 ทางสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งห้ามส่งออก เคลื่อนย้าย อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปของจีน ส่งผลต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ ในจีน รวมถึงบริษัทที่เข้าไปตั้งโรงงานในจีน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะต่อไป
ปัญหาเชิงโครงสร้างและความไม่แน่นอนทางนโยบาย ในปี 2566 จีนน่าจะความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายภาครัฐเพื่อเร่งจัดการกับปัญหาในประเทศซึ่งมีผลต่อความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ โดยในปี 2566 ทางการจีนจะให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามทิศทางนโยบายของทางการจีนต่อไป นอกจากนี้ จีนยังเผชิญประเด็นเชิงโครงสร้างประชากร โดยในปี 2565 ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีอยู่ที่ 1,411.75 ล้านคน
เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกดดันภาคส่งออกของจีน โดยเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 โดยในเดือนธ.ค.65 ตัวเลขการส่งออกจีนหดตัว -9.9% YoY
เศรษฐกิจจีนในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตที่ 4.4% YoY โดยคาดว่าการเติบโตจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ท่ามกลางความเสี่ยงสำคัญที่ยังต้องจับตามอง
การเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาดจะเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนในปี 2566 โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2/2566 เป็นต้นไป นำโดยการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ แนวทางของทางการจีนที่มุ่งเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนทิศทางนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยนโยบายการคลังน่าจะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นและนโยบายการเงิน อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลูกค้าชั้นดี(LPR)2/ ลงเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตที่ 4.4% (ทางการจีนจะมีประกาศเป้าหมายทางเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.66) 2/ดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงสำหรับสินเชื่อของภาคเอกชน (ประเภท 1 ปี) และภาคครัวเรือน (ประเภท 5 ปี)
กล่าวโดยสรุปเศรษฐกิจจีนในปี 2565 คาดขยายตัวอยู่ ที่ 4.4% YoY ยังมีปัจจัยที่ยังต้องติดตามทั้งประเด็นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเสี่ยงทางรัฐภูมิศาสตร์ และประเด็นเชิงโครงสร้าง