สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ม.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.กระบี่ (117 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (102 มม.) และจ.นราธิวาส (36 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 40,780 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,072 ล้าน ลบ.ม. (69%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค. 66 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส
นายกรัฐมนตรี ห่วงประชาชนภาคใต้ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กห. ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่พัดปกคลุม อ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 6 – 8 ม.ค. 66
จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทุกด้านและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
พร้อมให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วง 24 ชั่วโมง เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือได้ทันที ที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น