สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ม.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.พัทลุง (18 มม.) จ.นราธิวาส (13 มม.) และ จ.สระบุรี (11 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 40,901 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,181 ล้าน ลบ.ม. (69%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค. 66 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
4. เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส
ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวัง
น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ จากการติดตาม
การคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 6 -11 มกราคม 2566
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานต่างๆ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมหรือน้ำเอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำสายหลัก กรมชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี (ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง) จังหวัดนครนายก (ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ ตำบลดอนยอ อำเภอเมืองนครนายก) และจังหวัดราชบุรี (ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง) เพื่อเปิดทางน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 6 – 8 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิลดลง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 40,901 ล้าน ลบ.ม. (71%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 33,181 ล้าน ลบ.ม. (69%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,569 ล้าน ลบ.ม. (90%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,151 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,985 ล้าน ลบ.ม. (71%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 32,895 ล้าน ลบ.ม. (69%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,907 ล้าน ลบ.ม. (22%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,773 ล้าน ลบ.ม. (21%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมจัดสัมมนาเชิงวิชาการ “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ สู่สังคมเท่าทันภัยด้วยแผน ปภ.ชาติ” ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เปิดเวทีสร้างการรับรู้และความเข้าใจในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนกลไกการจัดการสาธารณภัยตามแผน ปภ.ชาติฉบับใหม่ พร้อมผลักดันยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ เพื่อก้าวสู่สังคมที่รู้เท่าทันการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน