สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 ม.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นราธิวาส (19 มม.) จ.ปัตตานี (16 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (15 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 41,299 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,523 ล้าน ลบ.ม. (70%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
เฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ และส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้
วันที่ 6 – 12 ม.ค. 66
วันที่ 21 – 27 ม.ค. 66
วันที่ 4 – 10 ก.พ. 66
วันที่ 18 – 24 ก.พ. 66
กอนช. ติดตามหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ หลังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่สภาวะปกติ
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ เพื่อติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
กรมชลประทาน สำรวจ ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนบางลางในช่วงเดือนมกราคม เพื่อวางแผนในการเก็บกักน้ำช่วงฤดูแล้ง พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงเดือนมกราคม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำรวจ และรายงานสิ่งกีดขวางทางน้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนปรับปรุงต่อไป
สทนช.4 ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วางแผนขับเคลื่อนและแก้ปัญหาพื้นที่ลุ่มต่ำในระยะยาวต่อไป
กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ติดตามและคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำลี้ ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การกัดเซาะตลิ่ง และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 400 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 500 ไร่
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 3 – 5 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 8 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 41,299 ล้าน ลบ.ม. (71%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 33,523 ล้าน ลบ.ม. (70%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,623 ล้าน ลบ.ม. (91%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,152 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,136 ล้าน ลบ.ม. (72%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 33,230 ล้าน ลบ.ม. (70%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,537 ล้าน ลบ.ม. (21%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,592 ล้าน ลบ.ม. (19%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกิจกรรม “การมอบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน” โดยได้จัดจุดบริการน้ำดื่มสะอาดเพื่อให้บริการประชาชน ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ถึง 4 ม.ค. 2566