สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ธ.ค. 65
ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคเหนือตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา (16.4 มม.) จ.สระบุรี (13 มม.) และ จ.กาญจนบุรี (9 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 41,996 ล้าน ลบ.ม. (72%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 34,166 ล้าน ลบ.ม. (71%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็น 8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ระหว่างวันที่ 27 – 29 ธ.ค. 65 ตามมติคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง เนื่องจากสถานการณ์น้ำด้านท้ายน้ำลดลงใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเขื่อนปัตตานีสามารถบริหารจัดการน้ำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ และเป็นการรักษาสมดุลน้ำของเขื่อนบางลาง
กอนช. ติดตามน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หลังสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานีและการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง ณ จ.ปัตตานีและยะลา เพื่อติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และติดตามการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลางและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เขื่อนบางลาง ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ทั้งนี้ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบอุทกภัยและได้กำชับให้หน่วยงานภายใต้ กอนช. และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยโดยเร็ว เร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ชำรุดเสียหาย ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาดให้สอดคล้องสถานการณ์ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลลงพื้นที่สำรวจและประเมินระบบการจัดการน้ำอุปโภค บริโภค ณ พื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย บ้านชำปะโต ตำบลอาโพน อำเภอบัวเชด บ้านตาแตรว ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ บ้านตาตุม ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ และบ้านโคกแสลง ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก เพื่อพัฒนาระบบประปาบาดาลและบ้านน้ำดื่ม
1.2 กรมชลประทานดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง ณ วัดเชียงใต้ ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือการเกษตร และอุปโภค บริโภค
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 41,996 ล้าน ลบ.ม. (72%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 34,166 ล้าน ลบ.ม. (71%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,676 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,154 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,419 ล้าน ลบ.ม. (74%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 33,859 ล้าน ลบ.ม. (71%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,864 ล้าน ลบ.ม. (18%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,289 ล้าน ลบ.ม. (15%)