“สุริยะ” ควานหามาตรการเลิกเผาไร่อ้อย
‘สุริยะ’ สั่ง กอน. เร่งประชุมเคาะมาตรการดูแลชาวไร่ กำชับเลิกเผาอ้อย ขอโรงงานเลิกรับซื้อ ประสานมหาดไทย-ทส. อัพเดตข้อมูลลอบเผาอ้อยแบบเรียลไทม์แจ้งเตือน ปชช.ทั่วประเทศ พร้อมคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย-หนุนภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มาหาทางออกร่วมกันสำหรับมาตรการส่งเสริมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดราคา และมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจาการลักลอบเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยที่ประชุมได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลชาวไร่ ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและชาวไร่อ้อย จะร่วมกันเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยกำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือตัดอ้อยสดรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือแน่นอน
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน.ได้หารือร่วมกับ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ถึงข้อเสนอ 3 เรื่อง โดยหลังจากนี้จะจัดให้มีการประชุม กอน.โดยเร็ว เบื้องต้นข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น
ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กอน. น่าจะพิจารณาได้ทันที ส่วนข้อเสนอแนวทางการขอเพิ่มเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีปี 2565/2566 จาก 120 บาทต่อตัน ควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มการหักเงินอ้อยถูกเผาไฟขึ้นจากเดิม 30 บาท นั้น จะต้องมีการหารือร่วมกับชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงก่อน เพราะปัจจุบันพบว่ายังมีชาวไร่ลักลอบเผาอ้อยทั้งกรณีตั้งใจเผาเองและกรณีโรงงานน้ำตาลขอให้เผา เรื่องนี้จึงต้องมีการตรวจสอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย
“ฤดูการผลิต 2565/2566 ซึ่งเริ่มเปิดหีบเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา กอน. พบข้อมูลที่น่ากังวลคือ มีการลักลอบเผาอ้อยมากถึง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 25.70% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 9.09 ล้านตัน โดยฤดูการผลิต 2564/2565 มี 3 กลุ่มโรงงานที่รับอ้อยถูกเผาสูงสุด คือ โรงงานในกลุ่มบริษัทมิตรผล 5.36 ล้านตัน
กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง 3.86 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น 2.27 ล้านตัน ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดควันไฟที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในทั่วพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงพื้นที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เรื่องนี้ กอน. จะตรวจสอบถึงสาเหตุ แรงจูงใจการเผา และจะเพิ่มเติมมาตรการจูงใจในส่วนของโรงงานเพิ่มเติม จากที่ปัจจุบันมีเฉพาะในส่วนของชาวไร่เท่านั้น
ขณะเดียวกันเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลสถานการณ์การเผาอ้อยอย่างใกล้ชิด สอน.จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ข้อมูลอัพเดตตัวเลขการเผาอ้อยแต่ละสัปดาห์ พร้อมพิกัดการเผา เพื่อเป็นข้อมูลเตือนภัยเชิงป้องกันด้านสุขภาพของประชาชนที่กำลังเผชิญกับ
โควิด-19 ซึ่งฝุ่นละอองจากการลักลอบเผาอ้อยจะทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง อาจติดโควิด-19 ได้ง่าย รวมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าววางแผนการท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว” นายภานุวัฒน์กล่าว