สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ธ.ค. 65
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (31 มม.) จ.พังงา (24 มม.) และ จ.นราธิวาส (22 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 42,454 ล้าน ลบ.ม. (73%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 34,566 ล้าน ลบ.ม. (72%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อุทกภัยภาคใต้ ผ่านคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้
ด้วยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกำชับให้กอนช. และศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคใต้เร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ โดยในวันที่ 22 ธ.ค. 65 เขื่อนบางลางเริ่มระบายน้ำ ปริมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. หลังหยุดการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 65 เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งนี้ กอนช. เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ปริมาณฝนช่วงน้ำทะเลหนุนสูง และช่วงคลื่นลมแรง เพื่อวางแผนเร่งระบายน้ำเขื่อนบางลางโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
กรมชลประทาน 1) นำแผนงานโครงการระยะยาวเสนอเข้าที่ประชุมฯ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และ 2) หาแนวทางในการบรรเทาภัยกรณีคันกั้นน้ำขาดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชุมชนรับทราบว่าหน่วยกำลังดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหา
ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด แม้คาดการณ์ฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีแนวโน้มลดลง ในพื้นที่พบว่าภาคใต้
ทุกหน่วยงานนำข้อมูลจากการประชุมคณะทำงานศูนย์ส่วนหน้าฯ ไปใช้ประกอบการทำงานของหน่วยงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 บริเวณบ้านเวินพระบาท ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 42,454 ล้าน ลบ.ม. (73%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 34,566 ล้าน ลบ.ม. (72%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,733 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,635 ล้าน ลบ.ม. (75%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 34,314 ล้าน ลบ.ม. (72%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,341 ล้าน ลบ.ม. (15%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,080 ล้าน ลบ.ม. (13%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมชลประทาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ถอดบทเรียนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเสนอแนะ ตลอดจนการประเมินผลการคาดการณ์น้ำ ระยะสั้น ระยะยาว ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการคาดการณ์และบริหารจัดการน้ำระหว่างหน่วยงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน คาดการณ์วางแผนการบริหารจัดการผ่านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะส่วนกลาง (swoc) และเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะของกรมชลประทานทั้ง 17 แห่ง ทั่วประเทศ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม เพื่อสามารถบรรเทาและป้องกันภัยอันเกิดจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จังหวัดกรุงเทพมหานคร