“วีริศ” เผย 2 นิคมฯ ภาคใต้ไร้กังวล มั่นใจรอดน้ำท่วมแน่
กำชับเฝ้าระวังใกล้ชิด ดูแลผู้ประกอบการ-ชุมชนรอบนิคมฯ หากได้รับผลกระทบ
“วีริศ” เผย 2 นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม กำชับติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด สั่งเตรียมพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากรเพื่อรับมือหากเกิดน้ำท่วม เน้นย้ำอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการรวมถึงชุมชนใกล้เคียง หากได้รับผลกระทบ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสงขลา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น สำหรับในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ซิตี้) ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหรือเกิดความเสียหายอื่นๆ โดยปริมาณฝนสะสมถึงปัจจุบัน 154.69 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำในรางระบายน้ำฝนในพื้นที่บางจุดมีระดับสูงใกล้เคียงกับระดับขอบถนน แต่ยังไม่พบว่ามีน้ำท่วมบนผิวถนนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถนนสายบ้านกลางที่ออกจากนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลานั้น มีน้ำท่วมผิวถนนสูงประมาณ 10-15 ซม.
“ผมได้สั่งการให้ทั้ง 2 นิคมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันที รวมทั้งให้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานชลประทานที่ดูแลในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการการระบายน้ำ ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศที่ส่งผลในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงชุมชนใกล้เคียงหากได้รับผลกระทบด้วย”นายวีริศ กล่าว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ซิตี้) ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ถูกออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานโครงสร้างที่ถูกต้อง มีระบบระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันเหตุน้ำท่วมจึงทำให้ในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ซิตี้) เป็น supply chain ยางพารา มีผู้ประกอบการรายใหญ่ประกอบกิจการในพื้นที่จำนวนมาก และเป็นโอกาสของธุรกิจอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และขนส่ง ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา)ตั้งอยู่บนพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน (SEZ) ใกล้กับชายแดนประเทศมาเลเซีย มีอัตราการส่งออกสูงสุดในประเทศไทย เอื้อต่อธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง มีการจัดการมลพิษ ลดผลกระทบชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน