สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.ปัตตานี (184 มม.) จ.นราธิวาส (168 มม.) และ จ.สงขลา (105 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 42,657 ล้าน ลบ.ม. (74%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 34,735 ล้าน ลบ.ม. (73%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมเจ้าท่า ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.สงขลา โดยมอบถุงยังชีพ 50 ชุด น้ำดื่ม 30 แพ็ค (360 ขวด) ให้ประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา
กองทัพบก จัดกำลังพลเข้าดำเนินการพัฒนาขุดลอก เพื่อเร่งระบายน้ำออก ระยะทาง 500 เมตร บนทางหลวงชนบท ที่มีน้ำท่วมขังบริเวณสองฝั่งถนน โคกขี้เหล็ก-เกาะบาตอ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาไม่สะดวก
ปตร.คลองท่าแนะ เนื่องจากระดับน้ำหน้า ปตร.มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปรับการระบายน้ำจากเดิม 1.00 ม. เพิ่มเป็น 1.50 ม.
ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ ตำบลชะมวง ตำบลควนขนุน ตำบลโตนดด้วน ตำบลพนมวังก์ ตำบลดอนทราย ตำบลปันแต ตำบลพนางตุง ตำบลมะกอกเหนือ ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้ำแผนป้องน้ำท่วมเมืองภูเก็ต
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พื้นที่ จ.ปัตตานี พร้อมประชุมติดตามแผนป้องกันอุทกภัย จ.ภูเก็ต สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้ว
รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่ได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งส่งผลให้สามารถป้องกันและลดผลกระทบได้ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการดำเนินการ โดยมอบจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเตรียมการรองรับฤดูแล้งตาม 10 มาตรการควบคู่กันด้วย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เสี่ยงแล้งซ้ำซาก รายงานต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อใช้วางแผนแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และให้ สทนช. ร่วมกับ จ.ภูเก็ต วางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการใช้น้ำทางเลือกรองรับความต้องการใช้น้ำให้เพียงพอในอนาคต และให้จังหวัดร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัดแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้ว และฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ณ บ้านห้วยก้านเหลืองน้อย หมู่ 11 ตำบลปากคาค อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ณ บ้านโนนยาง หมู่ที่ 10 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 42,657 ล้าน ลบ.ม. (74%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 34,735 ล้าน ลบ.ม. (73%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,768 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,758 ล้าน ลบ.ม. (76%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 34,409 ล้าน ลบ.ม. (73%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,179 ล้าน ลบ.ม. (15%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,014 ล้าน ลบ.ม. (12%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำประชุมหารือร่วมกับมูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย (TerraCycle Thai Foundation) รับฟังการรายงานผล โครงการเก็บและจัดการขยะในคลองลาดพร้าว ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดย มูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่คลองลาดพร้าวเพื่อทำการวิจัยโครงการนำร่องการจัดการขยะ และการนำขยะไปใช้ประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานวัตกรรมการดักและเก็บขยะในคลองลาดพร้าว และจะนำขยะที่ได้ไปทำงานวิจัยและใช้ประโยน์ต่อไป ซึ่งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยสามารถจัดเก็บขยะได้จำนวนกว่า 500,000 กิโลกรัม และได้นำขยะทั้งหมดมาทำการคัดแยกเพื่อส่งต่อไปรีไซเคิล นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานคนในชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองอย่างยั่งยืน