สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอุณภูมิลดลง กับมีลมแรง ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นราธิวาส (31 มม.) จ.สงขลา (29 มม.) และ จ.พัทลุง (28 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 42,827 ล้าน ลบ.ม. (74%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,304 ล้าน ลบ.ม. (73%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
กอนช.ประกาศฉบับที่ 57/2565 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
สทนช. จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ จ.นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี ณ ห้องประชุมท่าจีน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งได้ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างมั่นคงมากขึ้น มีเป้าหมายหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยการตัดยอดน้ำอย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม.ภายในปี 2566 ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงสุดประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที และจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำที่จะดำเนินการเพิ่มเติมภายในปี 2568 รวมประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์ที่ดินและสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
ที่ประชุมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนงานและโครงการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และจะนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการโครงการต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 17 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการน้ำบาดาล ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการกํากับ ดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาล ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท เพื่อควบคุบ กำกับ การใช้น้ำบาดาลให้เป็นไปตามกฎหมายน้ำบาดาล และเสริมสร้างการใช้น้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 17 – 20 ธ.ค. 65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 22 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมียังคงมีอากาศหนาวเย็น
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 42,827 ล้าน ลบ.ม. (74%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 34,910 ล้าน ลบ.ม. (73%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,762 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,866 ล้าน ลบ.ม. (76%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 34,576 ล้าน ลบ.ม. (73%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,921 ล้าน ลบ.ม. (13%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 910ล้าน ลบ.ม. (11%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำ จัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาองค์ความรู้ระบบประปาหมู่บ้านภายใต้โครงการรวมพลังประปาฮีโร่” รุ่นที่ 1 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ระบบประปาหมู่บ้าน ให้กับตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากร รวมทั้งส่งเสริมระบบผลิตน้ำสะอาดได้มาตรฐาน ตลอดจนซ่อมแซมระบบประปาที่ชำรุดให้กลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เป้าหมายที่ 6.1 การที่ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาดและมีราคาที่เป็นธรรม ภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังมีการมอบเกียรติบัตรให้ผู้ผ่านการอบรม 50 ท่าน และมอบเครื่องกรองน้ำให้กับศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนใน ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม