สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอุณภูมิลดลง กับมีลมแรง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (144 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (97 มม.) และ จ.พัทลุง (77 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 42,904 ล้าน ลบ.ม. (74%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 34,979 ล้าน ลบ.ม. (73%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช.ประกาศฉบับที่ 57/2565 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผลักดัน 5 โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำแก้ปัญหาท่วม-แล้ง
วานนี้ (15 ธ.ค. 65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2565 โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ จำนวน 5 โครงการ ก่อนเสนอ กนช. พิจารณาในวันที่ 29 ธ.ค. 65
กรมชลประทาน 1)โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2)โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และ 3) การขอขยายระยะเวลาและขยายกรอบวงเงินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร โครงการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 1 (เร่งด่วน)
การประปาส่วนภูมิภาค โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา – ภูเก็ต
2. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2567 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และเสนอต่อ กนช. พิจารณาตามขั้นตอน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 16 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทาน ดำเนินการ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง บริเวณบ้านคลองยอ หมู่ที่ 3 ต.วังทองแดง อ.เมือง สูบน้ำจากแก้มลิงวังทองแดง ส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างรอบคอบ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 16 – 17 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 21 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 42,904 ล้าน ลบ.ม. (74%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 34,979 ล้าน ลบ.ม. (73%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,770 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,897 ล้าน ลบ.ม. (76%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 34,643 ล้าน ลบ.ม. (73%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,828 ล้าน ลบ.ม. (13%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 872 ล้าน ลบ.ม. (10%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปานครหลวง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หารือแนวทางร่วมกันเพิ่มความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมมั่นใจน้ำประปาคุณภาพดี เพียงพอต่อการบริการประชาชน