สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอุณภูมิลดลง กับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (99 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (86 มม.) และ จ.นราธิวาส (56 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,187 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,237 ล้าน ลบ.ม. (74%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ตาม 13 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 65
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนบางลางที่ 8 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ตามมติคณะทำงานฯ เขื่อนบางลาง เนื่องจากคาดว่า ในวันที่ 11-13 ธ.ค.65 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และในวันที่ 17-18 ธ.ค.65 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ปัจจุบันด้านท้ายน้ำยังได้รับผลกระทบอยู่บริเวณ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่สุ่มต่ำ และบ้านโคกยาร่วง ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และเขื่อนปัตตานีได้มีการหน่วงน้ำเพื่อลดผลกระทบกับท้ายน้ำ คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ กำชับให้ กฟผ. พิจารณาการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางให้รอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้กรมชลประทานนำเครื่องผลักดันน้ำมาใช้เร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว และขอให้ กฟผ. พิจารณาการระบายน้ำโดยให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และต้องคำนึงถึงความมั่นคง ปลอดภัยของเขื่อนด้วย และขอให้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา สนับสนุนน้ำดื่มสะอาด จำนวน 400 ขวด โดยมอบประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 30 ครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ หน่วยได้ติดตาม และเฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสานผู้นำชุมชนตลอดจนหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ณ จุดอพยพมัสยิดนูรุลฮีดายะห์ และโรงเรียนตาดีกา บ้านซีเซะ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา ปัจจุบัน ระดับน้ำได้ลดลงอยู่ในระดับปกติแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 13 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการติดตามการใช้ประโยชน์ โครงการศึกษาสำรวจจุดจ่ายน้ำบาดาล เพื่อประชาชนตามถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี และเจาะบ่อน้ำบาดาล โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
1.2 กองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำตื้นในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค ในพื้นที่ตำบลอูบมุง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณภูมิลดลง กับมีลมแรง สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมช่องแคบมะละกา และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,187 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,237 ล้าน ลบ.ม. (74%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,795 ล้าน ลบ.ม. (95%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ)
ปริมาณน้ำใช้การ 14,036 ล้าน ลบ.ม. (77%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 34,893 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,540 ล้าน ลบ.ม. (12%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 757 ล้าน ลบ.ม. (9%)