สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบน มีฝนเล็กน้อย ช่วงวันที่ 9-11 ธ.ค.65 ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.สงขลา (184 มม.) จ.นราธิวาส (113 มม.) และ จ.ปัตตานี (97 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,416 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,461 ล้าน ลบ.ม. (74%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช.ประกาศฉบับที่ 56/2565 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.ชุมพร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
กอนช. ย้ำหน่วยงานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องสถานการณ์น้ำภาคใต้ตอนล่าง ป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นที่จะกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บ 894.11 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61.5% แม้ปริมาตรของเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 560.25 ล้าน ลบ.ม. แต่เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ได้มีการพิจารณาปรับลดการระบายน้ำอยู่ที่ 5 ล้าน ลบ.ม. (จากเดิม 6.05 ล้าน ลบ.ม.) โดยเริ่มลดการระบายในวันที่ 7 ธ.ค. 65 เพื่อลดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ กอนช. มอบหมายให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและปรับแผนให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยให้เตรียมการเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก ลงพื้นที่ตรวจสอบและซ่อมแซมตามแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือประจำในจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้เพียงพอและทันต่อการให้ความช่วยเหลือ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องด้วย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทานลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยแล้ง โดยดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำหนองรู ตำบลโพนทอง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และกำจัดวัชพืชพร้อมขุดลอกคลองสายใหญ่คลองเพรียว ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำและเป็นการเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงและมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางและลมตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนล่างของภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว จะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่างและช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักและคลื่นลมมีกำลังแรง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,416 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,461 ล้าน ลบ.ม. (74%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,799 ล้าน ลบ.ม. (95%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,098 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,106 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,260 ล้าน ลบ.ม. (10%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 648 ล้าน ลบ.ม. (8%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดพิธีปิดโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการ ได้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ รวมทั้งการนำการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EbA) มาใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ