หอการค้าไทย-จีน ชี้เศรษฐกิจไทยสดใส

หอการค้าไทย-จีน มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัว 3.5-4% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกลับคืนมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีนก็ตาม แต่นักธุรกิจยังกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น จากสมาชิก 200 คน เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า จะขยายตัว 3.5-4% ดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคของประชาชนที่ดีขึ้น

แต่ต้องจับตาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ เพราะแนวร่วมนานาชาติมาสนับสนุนยูเครน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในแต่ละพื้นที่ไม่ทัดเทียมกัน ก่อให้เกิดความแตกต่างในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน ส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อระเบียบโลกใหม่ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย จนครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินการค้าและการลงทุนของนักธุรกิจ
“ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกในปี2566 พบว่า ความท้าทายที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ปัญหาของเงินเฟ้อที่ส่งผลไปถึงการใช้นโยบายทางการเงินในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ที่กระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นมีความสำคัญมากกว่าราคาของพลังงานเพราะแนวโน้มปรับตัวลดลง อีกด้านคือ ความท้าทายที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ประกอบไปด้วย 4 เรื่อง ที่ได้รับน้ำหนักเท่าๆ กัน คือ ปัจจัยในประเทศ คือ 1.หนี้ครัวเรือน และหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ คือ 2.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 3.การส่งออกที่ชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังไม่ฟื้นเต็มที่ และ 4.การรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน”

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 10 ล้านคน แต่ในจำนวนนั้น ยังไม่มีชาวจีน พบว่า 24.3% และ 58.6% ของผู้ตอบการสำรวจ มั่นใจมากที่สุด และมั่นใจมากพอควรว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คำถามเชิงนโยบายคือ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังจ่ายสูงมาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น ด้านการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ผู้ตอบเกือบทั้งหมดลงความเห็นว่า นักลงทุนจากต่างประเทศจะสนใจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมากที่สุด และตามมาอย่างห่างๆด้วย พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร พลังงานทดแทน และการท่องเที่ยว
“ปัญหาของเงินเฟ้อยังถูกหยิบยกขึ้นมาเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ 33.2% และ 23.7% คาดว่าปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อจะเริ่มผ่อนคลายลงในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ แต่มี 21% คิดว่าน่าจะเริ่มผ่อนคลายได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566

การคาดการณ์ไตรมาสแรกของปีหน้า เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันนั้นได้สอบถามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ 37.6% คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น ขณะที่ 32.6% คาดว่าจะทรงตัว ส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน 50.3% ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าไตรมาสแรกของปีหน้าจะดีกว่าช่วงปัจจุบัน ส่วน 33.7% คาดว่าการส่งออกยังคงทรงๆ เช่นปัจจุบัน 44.8% ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่า การนำเข้าของไทยจากจีนจะเพิ่มขึ้น และ 32.6% คาดว่าจะทรงๆ ที่น่าสนใจคือ 56.9% ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการลงทุนจากจีนมาไทยจะเพิ่มขึ้น สาเหตุอาจจะเป็นเพราะการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่เริ่มมีอย่างต่อเนื่องมายังประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะปัญหาความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์โลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และสืบเนื่องจากความสำเร็จของกรอบ RCEP
การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสแรกของปีหน้าเปรียบเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่า 55.3% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น 31.5% จะทรงๆ มีเพียง 10.5% ไตรมาสแรกจะชะลอตัวลงอีก ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้าคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป (เหมือนกับการสำรวจรอบที่แล้ว) ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง พลังงานและสาธารณูปโภค