สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบน มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (105 มม.) จ.ชุมพร (71 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (56 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,526 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,565 ล้าน ลบ.ม. (74%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช.ประกาศฉบับที่ 56/2565 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.ชุมพร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำ การเตรียมการและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้
จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมชลประทาน ใช้คลองผันน้ำบางสะพานตัดยอดน้ำในคลองบางสะพาน ก่อนจะเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจใน อ.บางสะพาน และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ 2 ริมฝั่งของลุ่มน้ำคลองบางสะพาน ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ได้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
จ.นครศรีธรรมราช ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนรับมืออุทกภัย 2565 โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณคลองคูพาย ต.ในเมือง จำนวน 3 ทุ่น จุดที่ 2 บริเวณคลองป่าเหล้า ต.ในเมือง จำนวน 3 ทุ่น จุดที่ 3 บริเวณคลองท่าซัก (ถนนเทิดพระเกียรติ ) ต.ท่าซัก จำนวน 3 ทุ่น จุดที่ 4 บริเวณคลองท่าซัก (สะพานนาวง ตำบลท่าซัก) จำนวน 3 ทุ่น รวมติดตั้งทั้งหมด 12 ทุ่น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน จำนวน 85 แห่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (งบลงทุน) ณ บ้านคำ หมู่ที่ 2 ตำบลคำเลาะ อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 150 แห่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (งบลงทุน) ณ บ้านจุ้ม กลุ่มที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 7 – 10 ธ.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1- 2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่างและช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,525 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,565 ล้าน ลบ.ม. (74%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,805 ล้าน ลบ.ม. (95%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,129 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,204 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,128 ล้าน ลบ.ม. (10%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 598 ล้าน ลบ.ม. (7%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำระบบภูมิสารสนเทศฝนหลวง ผ่านเว็บไซต์ (Fonluang Geo-Map) เพื่อช่วยกำหนดพื้นที่ในการทำฝน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเติมน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยกว่า 30% ซึ่งสนับสนุนการทำฝนประจำวัน ให้ตรงกับความต้องการ