กนอ.จับมือ 4 พันธมิตร กำจัดสารทำความเย็น ด้วยระบบ “Fluidized Bed”
กนอ. เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน – ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมศุลกากร บริษัท เวสท์ แมนเนจเม้นท์ สยาม จำกัด และบริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Dowa Eco Systems จากประเทศญี่ปุ่น เผาทำลายสารทำความเย็นที่จับกุมได้จากการลักลอบนำเข้าประเทศกว่า 10,000 ถัง สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้รับการประสานจากกรมศุลกากร ผ่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมา เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้เตาเผาซึ่งอยู่ในการกำกับดูแล ของ กนอ. โดยเป็นเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบด (Fluidized Bed) ที่ กนอ.ได้รับความช่วยเหลือด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เตาเผาพร้อมระบบผลิตไอน้ำภายใต้โครงการอนุรักษ์พลังงานและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจากองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ NEDO แห่งประเทศญี่ปุ่น และบริหารโดยบริษัท เวสท์ แมนเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ภายใต้ชื่อ โครงการบางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ หรือ BPEC เพื่อเผาทำลายสารทำความเย็นที่กรมศุลกากรจับกุมได้ ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10,000 ถัง ซึ่ง กนอ.ได้อนุญาตให้บริษัทฯ เผาสารทำความเย็นดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่ต้องควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99% ทั้งนี้ บริษัท โดวะ อีโค่ ซิสเต็มส์ จำกัด และ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ได้พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่นมาดำเนินการที่ประเทศไทยจนประสบผลสำเร็จ
“การเผาทำลายสารทำความเย็นที่ผ่านมาทั้งหมดจนถึงครั้งนี้รวมประมาณ 147 ตัน ซึ่งในการเผาวันนี้ (30 พ.ย.65) เพียงวันเดียวเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วกว่า 1.2 ล้านตันของคาร์บอน เกินครึ่งของเป้าหมายปี 2566 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 2 ล้านตันของคาร์บอน ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านไตรมาส 1 ด้วยซ้ำ ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญมากและต่างชาติก็ให้ความชื่นชมว่าเป็นครั้งแรกของโลก เพราะยังมีเพียงไม่กี่ที่ทั่วโลก เช่น ไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอาจจะมีประเทศญี่ปุ่นด้วย ที่สำคัญสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในที่สุด”นายวีริศ กล่าว
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่ ปี 2558 มีการทดลองเผาสารทำความเย็นด้วยการควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99% ซึ่งในที่สุดการกำจัดสารทำความเย็นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยที่บริษัทฯ สามารถรับสารทำความเย็นที่คงค้างทั้งหมดของกรมศุลกากร จำนวนมากกว่า 10,000 ถัง มาเผาทำลายที่เตาเผาครั้งนี้ โดยความร่วมมือของจัดการสารทำความเย็นของหลายหน่วยงานถือเป็นต้นแบบที่แท้จริงในการจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 1.2 ล้านตันของคาร์บอน อย่างไรก็ตามโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันหาวิธีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนเพื่อเป็นการส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับลูกหลานและคนรุ่นต่อไป
นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกรมศุลกากรมีสารทำความเย็น หรือสารฟลูออโรคาร์บอนที่จับกุมได้จากการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายอยู่จำนวนมากกว่า 130 ตัน หรือมากกว่าหมื่นถัง ซึ่งการทำลายสารทำความเย็นนี้ต้องดำเนินการอย่างถูกวิธี จึงได้หารือร่วมกันเพื่อทำให้เกิดโครงนี้ขึ้น เริ่มจากการส่งมอบสารทำความเย็นในกำกับดูแลให้แก่บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด โดยมีพิธีเปิดโครงการ ณ กรมศุลกากร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 และส่งมอบแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ได้ดำเนินการเผาทำลายสารทำความเย็นดังกล่าวอย่างถูกวิธี โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาดำเนินการเผาทำลายสารทำความเย็นทั้งหมดประมาณ 18 เดือน
ด้านนายยาซุฮารุ ยะใน ประธานกรรมการ บริษัท Dowa Eco systems จำกัด (บริษัทโดวะ อีโคซิสเต็ม จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด และ บริษัทบางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมของการจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร และพันธมิตรในทุกภาคส่วน DOWA Eco Systems Ltd. โดยการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นจะอุทิศตนเพื่อช่วยพัฒนามาตรฐาน เทคโนโลยี และขีดความสามารถในการจัดการขยะของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากลหรือดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ สำหรับมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราจะไม่เพียงแต่จำกัดการปล่อย CO2 ของเราเท่านั้น แต่เราจะรับผิดชอบจัดหาวัสดุและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการประหยัดพลังงาน และพัฒนาเทคโนโลยีในการทำลายสารทำความเย็น Freon ในเอเชีย เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ net zero emission
บริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด มีการบริหารจัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำมากำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถนำความร้อนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไอน้ำ รวมถึงผลิตไฟฟ้าได้ ปัจจุบันสามารถจัดการได้ทั้งของเสียอันตรายและไม่อันตราย รวมถึงสารทำความเย็นด้วย นอกจากนี้ ยังศึกษาและพัฒนาการจัดการไฮบริดแบตเตอรี่จนสามารถดำเนินการติดตั้งเตาเผาสำหรับจัดการไฮบริดแบตเตอรี่ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับเตาเผาฟลูอิดไดซ์เบด เป็นระบบเตาเผาที่ใช้ทรายเป็นตัวกลางในการนำความร้อน โดยหลักการในการเผาทำลายสารทำความเย็นจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บสารทำความเย็นจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แอร์ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น ระบบทำความเย็นในรถยนต์ โดยจะดูดสารทำความเย็นใส่ไว้ในถังเก็บ ก่อนที่จะส่งมากำจัดที่เตาเผา ก๊าซร้อนที่เกิดขึ้นจากห้องเผาจะถูกส่งไปยังหม้อไอน้ำ (Boiler) เพื่อผลิตไอน้ำ ก่อนจะส่งต่อเข้าสู่ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศของเตาเผา ด้วยการควบคุมอัตราการป้อนสารที่กำหนด จะทำให้เตาเผาสามารถกำจัดสารทำความเย็นได้มากกว่า 99.99% สามารถตรวจวัดได้จากอัตราการระบายมลพิษทางอากาศที่ปล่องระบายอากาศของโครงการ ทั้งนี้ เตาเผาฟลูอิดไดซ์เบด สามารถเผาของแข็งได้ประมาณ 150 ตันต่อวัน และเผาของเหลวได้ประมาณ 123 ตันต่อวัน