สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนอากาศเย็นในตอนเช้า และมีฝนเล็กน้อยบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.ชุมพร (143 มม.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (116 มม.) และ จ.ระนอง (113 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,571 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,609 ล้าน ลบ.ม. (74%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศฉบับที่ 56/2565
วันที่ 5 ธ.ค. 65 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65
พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.ชุมพร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย
จากฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 3-5 ธ.ค. 65 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่รวม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.สิชล เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม พรหมคีรี ท่าศาลา นาบอน ทุ่งใหญ่ และร่อนพิบูลย์ รวม 23 ตำบล 73 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,554 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ซึ่ง ปภ. ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหารในพื้นที่ อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังพร้อมจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ บ้านหนองบัว ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 6 – 7 ธ.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่างและช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรในช่วงวันที่ 9 – 11 ธ.ค. 65
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,571 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,609 ล้าน ลบ.ม. (74%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,806 ล้าน ลบ.ม. (95%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,139 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,246 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,065 ล้าน ลบ.ม. (9%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 573 ล้าน ลบ.ม. (7%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “Forest Talk สรวลเส (วนา) ปลูกป่าอย่างไรให้รอด” ในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 แชร์เทคนิครับมือสภาวะโลกรวนและ PM2.5 พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกป่า รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการ “พรรณพฤกษาราชานุสรณ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศ์ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร