คลังเก็บภาษีขายหุ้นกวาดรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท
ครม.ไฟเขียวกระทรวงการคลัง เก็บภาษีจากการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax : FTT เพื่อสร้างความยุติธรรมทั้งในตลาดและนอกตลาด กำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 0.11% เพิ่มรายได้เข้ารัฐ 15,000-16,000 ล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พ.ย.65) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในเรื่องการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น ( Financial Transaction Tax : FTT) โดยให้ยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น โดยกำหนดให้เก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในอัตรา 0.1% บวกด้วยภาษีท้องถิ่นอีก 10% รวมเป็นภาระภาษี FTT อยู่ที่ 0.11% ซึ่งการยกเว้นภาษีดังกล่าว เพื่อสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์ มาอย่างยาวนานถึง 40 ปี ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะมีช่วงเวลาให้นักลงทุนปรับตัว 3 เดือน ซึ่งคาดว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ หลังจากลงประกาศในร่างราชกิจจานุเบกษาแล้ว 3 เดือน หรือราววันที่ 1 เดือนเม.ย.2566
ทั้งนี้ ในการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวจะมีการยกเว้นในส่วนของกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และบรรดานักลงทุนรายใหญ่ (Market Maker) ทั้งหลาย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ อีกทั้งบ้างกองทุนก็มีการออกตราสารออกมา ซึ่งก็มีส่วนช่วยกระตุ้นสภาพคล่องให้มีการซื้อขายกันมากขึ้น ในส่วนนี้ก็จะมีการยกเว้นไว้ โดยการเก็บภาษีขายหุ้นก็จะไม่กระทบในกลุ่มนี้
นายอาคม กล่าวต่อว่า ในส่วนภาษีขายหุ้นนี้ จะให้ทางนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เป็นคนรวบรวม ส่วนผู้ขายผู้ซื้อไม่ต้องดำเนินการใดๆ อีกทั้งในส่วนของเพดานการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ก็จะเรียกเก็บตั้งแต่บาทแรกเลยไม่มีกำหนดเพดานการขายขั้นต่ำหรือเริ่มต้นแต่อย่างใด สำหรับการเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้กฤษฎีกาไปตรวจร่างกฎหมายอยู่ โดยหากตรวจร่างกฎหมายแล้วไม่มีสาระสำคัญที่ต้องแก้ไข ไม่ต้องเข้า ครม. ก็สามารถประกาศใช้ได้ทันที
“กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้ หากเก็บเต็มปีจะสร้างรายได้ให้รัฐที่ 15,000-16,000 ล้านบาท ในอัตราภาษีเรียกเก็บเต็มเพดาน 0.11%”
ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้ ก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลี่ยมล้ำ อีกทั้งในข้อกังวลหากผู้ขาย มีการขายขาดทุนต้องมาถูกเก็บภาษีขายหุ้นอีก ก็บอกเลยว่าไม่ต้องนำมาคิดเพราะเป็นส่วนของหลักเกณฑ์ในการซื้อขายหุ้น เพราะเป็นหลักการของธุรกิจเฉพาะเสียเพียงครั้งเดียว อีกทั้งไม่ต้องนำกลับมารายงานเก็บส่งให้สรรพากรแต่อย่างใด
“กฎหมายการเก็บภาษีขายหุ้นนี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับตลาดหุ้นมาก เนื่องด้วยเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังได้เสนอตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ .. พ.ศ..) ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีหลักการดังนี้
1.ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราดังต่อไปนี้ 1. อัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 และ 2. อัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
โดยในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว ได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขายโดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
อย่าไรก็ตาม การยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวกับ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เก็ต เมคเกอร์) และกองทุนบำนาญซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่า ได้แก่ กองทุนที่จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสม เข้ากองทุนสามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเพื่อเกษียณอายุ ตลอดจนกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่กองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ การจัดเก็บในอัตราลดลงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.05% ในปีแรก เนื่องจากเป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มานาน และหลังจากนั้น จะจัดเก็บในอัตรา 0.1% ตามประมวลรัษฎากรในปีต่อ ๆ ไป โดยรวมจึงไม่ได้ทำให้สูญเสียรายได้ แต่จะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บประมาณ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อๆ ไป หลังเก็บเต็มอัตราที่กำหนด 0.1% รัฐบาลจะจัดเก็บได้ 16,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บรายได้ภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนมาตรการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 เนื่องจากมีเวลาในการพิจารณา โดยขอเวลาดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน ขณะนี้ยังเหลือเวลา 1 เดือน ส่วนเรื่องที่จะไม่มีโครงการคนละครึ่งเฟส 6 แล้วนั้น เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว การช่วยเหลือควรจะเป็นเฉพาะกลุ่ม เช่น การช่วยเรื่องราคาพลังงาน ให้กับกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อยเป็นต้น
“มาตรการควรจะต้อง เป็นมาตรการเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่นเรื่องของพลังงาน รัฐบาลก็จะช่วยในกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับที่กระทรวงอื่นๆ ไม่พร้อมที่จะเสนอ โดยยืนยัน ของกระทรวงการคลัง เกือบจะพร้อมแล้ว” นายอาคมกล่าว