สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 พ.ย. 65
ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี (68 มม.) จ.กาญจนบุรี (60 มม.) และ จ.เชียงใหม่ (50 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,685 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,752 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ติดตามหน่วยงานแก้ปัญหาด้านน้ำ
กรุงเทพมหานคร แก้ปัญหาด้านน้ำ ดังนี้
ปัญหาน้ำท่วม ถ.เจ้าคุณทหาร (ขาเข้า) บริเวณคลองสาม โดยติดตั้งรถสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) เสริมเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 คัน เครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง (เดิมมีเครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง) ที่ถ.เจ้าคุณทหาร บริเวณคลองสาม พื้นที่เขตลาดกระบัง
ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางขุนเทียน ติดตั้งรถสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) จำนวน 1 คัน บริเวณหมู่ บ้านวงแหวนประทีปชัชวาล ซ.เทียนทะเล 26 สูบน้ำในถนนหมู่บ้านลงคลองพระไชยยศสมบัติ
เก็บขยะและวัชพืช เพื่อเตรียมพร้อมรับฝน ให้น้ำไหลได้สะดวก ไม่มีขยะและวัชพืชกีดขวางทางน้ำไหล โดยได้ดำเนินการในหลายจุด อาทิคลองบางลำพู คลองมหานาค คลองโอ่งอ่าง พื้นที่เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเปรมประชากร ช่วงสะพานดุสิต พื้นที่เขตดุสิต คลองสามวา ช่วงวัดสุทธิสะอาดถึงประตูระบายน้ำคลองสามวา พื้นที่เขตคลองสามวา คลองสาหร่าย ช่วงซอยเฉลิมพระเกียรติ ร. 9/6 พื้นที่เขตประเวศ คลองมะนาว ช่วงสวนเฉลิมพระเกียรติตัด ถ.พระราม 3 พื้นที่เขตบางคอแหลม
ปัญหาคุณภาพน้ำ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน จะดำเนินการไหลเวียนน้ำ ซึ่งต้องคำนึงถึงการควบคุมปริมาณน้ำ ให้มีความเหมาะสม ในการนำน้ำสะอาดจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาไหลเวียนน้ำเสีย โดยใช้หลักการไหลตามธรรมชาติให้มากที่สุด จะเปิดประตูระบายน้ำตามริมแม่น้ำ เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงจังหวะน้ำขึ้น ให้น้ำไหลเข้ามาเจือจางน้ำในคลอง ไหลเวียนถ่ายเทกันไปมา เกิดการหมุนเวียนของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้นต่อไป
สถานการณ์น้ำท่วม/น้ำหลาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (28 พ.ย. 65) รายงานยังคงมีน้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี และ จ.สุราษฎร์ธานี รวม 4 อำเภอ 4 ตำบล 11 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ 297 ครัวเรือน
จ.อุบลราชธานี จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานีวารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ รวม 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 247 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จ.สุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเมื่อวันที่ 26 พ.ย.65 ทำให้น้ำในคลองอิปันล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ ต.อิปัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 50 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (งบลงทุน) ณ บ้านเขาภูหีบ หมู่ที่ 3 ตำบลไทยอุดม อำเภอคลองหาด และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (งบลงทุน) ณ บ้านทรัพย์นิยม หมู่ที่ 2 ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วงวันที่ 2 – 3 ธ.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลซียและภาคใต้ตอนล่าง คาดว่า ในช่วงวันที่ 4 – 5 ธ.ค. 65 จะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,687 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,752 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,777 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,158 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,161 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,375 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,627 ล้าน ลบ.ม. (7%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 406 ล้าน ลบ.ม. (5%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมผังน้ำครั้งที่ 3 รับฟังความเห็นต่อร่างผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ที่โรงแรมนานาบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิดการประชุมผังน้ำครั้งที่ 3 เวทีที่ 1 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน สำหรับการจัดทำผังน้ำ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม แสดงพื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ และเมื่อเกิดภาวะน้ำหลากสามารถแสดงทิศทางการไหลของน้ำในระบบผังน้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และไม่ทำให้เกิดการรุกล้ำทางน้ำ นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพิจารณาความเหมาะสมการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ว่าอยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ รวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบผังน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้เป็นทางน้ำโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ