ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีพุ่งติดต่อกัน 3 เดือน
สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 53.1 โดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวและแนวโน้มที่ดีขึ้นของต้นทุน แต่มีสัญญาณแผ่วของกำลังซื้อ ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับสูงเกินค่าฐานที่ 50 สะท้อนผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นต่อธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ที่เป็นช่วง High season ทุกภูมิภาค
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนต.ค. 2565 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ อีกทั้งราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อกำไรของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามเริ่มมีสัญญาณการทรงตัวของกำลังซื้อ โดยเฉพาะภาคการค้าที่มีความเชื่อมั่นชะลอตัวลง
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนต.ค. เพิ่มขึ้น ได้แก่ องค์ประกอบด้านกำไรและต้นทุน ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 57.4 และ 41.5 จากระดับ 54.8 และ 38.7 ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการและภาคการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 55.7 และ 51.3 จากระดับ 53.7 และ 49.3 ตามลำดับ ซึ่งมีผลมาจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมวดเสื้อผ้าและสิ่งทอที่รับตัดเสื้อผ้าออกงาน สกรีนเสื้อ ทำเสื้อทีม ได้อานิสงส์จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมไปถึงของที่ระลึก ยาดม ยาหอมที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจขยายตัว ส่วนภาคการค้าและภาคการเกษตรชะลอตัวลง อยู่ที่ระดับ 51.8 และ 50.2 จากระดับ 53.0 และ 53.7 ตามลำดับ โดยภาคการค้าส่วนหนึ่งมาจากยอดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ใกล้หมดลง รวมทั้งต้นทุนราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยต่อครั้งลดลงทำให้รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาคการเกษตรชะลอตัวเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบการผลิตทำได้น้อยลง และผู้ประกอบการยังกังวลกับราคาปุ๋ยที่คงตัวอยู่ในระดับสูง
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนต.ค. 2565 พบว่า ยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคส่วนใหญ่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 53.7 จากระดับ 51.7 ผลจากสภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งเหมาะสมกับการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านขายของฝากและของที่ระลึก รวมถึงสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าพื้นเมืองและยาสมุนไพร ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.2 จากระดับ 51.6 ผลจากการจัดกิจกรรมงานเทศกาลและประเพณีในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น งานบุญ เทศกาลแข่งเรือ งานงิ้ว เป็นต้น ส่งผลให้มีการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านรับตัดชุด/สกรีนเสื้อ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 49.7 เนื่องจากกำลังซื้อขยายตัวจากนักท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 53.7 จากระดับ 53.5 ผลจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยผ่านด่านชายแดน ส่งผลให้ธุรกิจในเขตชายแดนและในจังหวัดสงขลาขยายตัว อย่างไรก็ตามธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่องและประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ภาคกลาง และกรุงเทพฯและปริมณฑล ค่าดัชนีปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 51.3 และ 54.0 จากระดับ 52.2 และ 56.1 ตามลำดับ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยต่อครั้งลดลง ประกอบกับสินค้าบางรายการมีราคาสูง รวมทั้งผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ของภาคกลาง และจากกำลังซื้อในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูงส่วนหนึ่งมาจากการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ อีกทั้งภาคธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งสินค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหารและวัสดุก่อสร้าง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 54.6 จากการคาดการณ์ค่าครองชีพอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลต่อกำลังซื้อ อย่างไรก็ตามทุกภาคธุรกิจยังมีความความเชื่อมั่นเกินค่าฐาน 50 สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นต่อธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยวที่เป็นช่วง High season ทุกภูมิภาค
จากการสอบถามธุรกิจ SME กับมุมมองภาวะเศรษฐกิจและแผนรับมือในปี 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME เกือบ 50% มองว่าราคาสินค้า/ วัตถุดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รองลงมา SME 38.7% มองว่า ราคาสินค้า/ วัตถุดิบจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ประมาณ 1%-10% โดยส่วนใหญ่มองทิศทางภาวะธุรกิจจะดีขึ้นในปี 2566 ตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการที่มองว่าภาวะธุรกิจจะทรงตัวจากความผันผวนหลายปัจจัยทั้งราคา รายได้และสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนที่มองว่าจะแย่ลง โดยปัจจัยกระทบสำคัญมาจากราคาสินค้า/ วัตถุดิบที่จะฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภค สำหรับปัจจัยกระทบทางลบที่ผู้ประกอบการกังวลว่าจะส่งผลต่อธุรกิจมากที่สุดคือ ด้านกำลังซื้อและรายได้ที่ชะลอตัว และราคาสินค้า/ วัตถุดิบแพง โดย SME บางรายคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวในสัดส่วนที่มากกว่า 80%
ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจเกิดความผันผวนในปี 2566 ผู้ประกอบการมีแผนการรับมือในด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายโดยการ (ปรับเพิ่มราคาขาย/ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น) ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจส่งผลต่อความต้องการซื้อทั้งจากภาคธุรกิจและภาคประชาชน แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการ 55.3% ยังคงมีความคาดหวังว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าปี 2565 นี้
สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งมาตรการเพิ่มกำลังซื้อเดิมที่ SME ต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง คือ โครงการกระตุ้นการใช้จ่าย (โครงการเราชนะและคนละครึ่ง) รองลงมา คือ การให้ความช่วยเหลือในการลดภาระต้นทุนและค่าใช้จ่าย มาตรการเงินเยียวยาธุรกิจ โดยต้องการได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจและครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจมากขึ้น