สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 พ.ย. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ภูเก็ต (68 มม.) จ.ตรัง (61 มม.) และ จ.ระนอง (59 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,718 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,821 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ติดตามหน่วยงานรับมือฝนภาคใต้
กรมชลประทาน ประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในละพื้นที่ โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ โดยคำนึงถึงการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดไว้
ขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว แต่ในพื้นที่ภาคใต้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด
พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีผู้นำท้องถิ่นพร้อมเจ้าหน้าที่และประชาชนได้เข้าร่วมกิจกรรม ณ ตำบลหนองผักนาก และ ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
2. สภาพอากาศ
หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเข้าสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. 65 ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,718 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,821 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,741 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ 21 พ.ย.65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำของจังหวัด รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงซ่อมแซมฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทานจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายหนองวัวดำ ฝายท่อทองแดง และฝายวังบัว มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลาที่นาน ซึ่งควรปรับปรุงให้มั่นคงแข็งแรงมีสภาพพร้อมใช้งาน เมื่อฝายทั้ง 3 แห่งแล้วเสร็จ แจะทดน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าพื้นที่เกษตรในช่วงฤดูแล้ง บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความสำคัญในการเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงแหล่งน้ำ และจัดทำระบบกระจายน้ำที่ดีและทั่วถึง จึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้วางแผนบูรณาการเร่งรัดแผนงานต่างๆ ตามกรอบที่วางไว้ และยังได้สั่งการเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2565/2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชน