สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 พ.ย. 65
ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ระยอง (75 มม.) จ.ตรัง (59 มม.) และ จ.จันทบุรี (59 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,746 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,851 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศ กอนช.เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 21 – 24 พ.ย. 2565
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และจ.สตูล
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง บริเวณปลายคลองระบายน้ำ D 8 ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี และพื้นที่น้ำท่วม ดังนี้
บ้านโคกยาร่วง ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณสวนยางและพื้นที่ลุ่มต่ำไม่มีผลกระทบต่อเส้นทางคมนาคม
มัสยิดบ้านจางา ต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณย่านชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบถนนและบริเวณสวนยางในพื้นที่ลุ่มต่ำ บ้านปะกาลือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังบริเวณที่พักอาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมรวมทั้งเส้นทางสัญจรในบางช่วง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการตรวจสอบน้ำประปาไหลอ่อน ณ บ้านเลขที่ 267 ถ.เทศา 1 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้ดำเนินการสำรวจหาท่อที่รั่ว พบว่ามีท่อรั่วหลายจุด จึงได้เร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งสามารถลดน้ำสูญเสียประมาณ 2 ลบ.ม./ชม. หลังดำเนินการแล้วเสร็จตรวจสอบพบว่า น้ำประปาไหลปกติแล้ว
2. สภาพอากาศ
หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวนและเข้าสู่อ่าวไทยช่วงวันที่ 23-24 พ.ย. 65 ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,746 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,851 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,738 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,157 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,160 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 65 ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,458 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,124 ล้าน ลบ.ม. (5%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 270 ล้าน ลบ.ม. (3%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรุงเทพมหานคร ร่วมหารือกับองค์กร The Ocean Cleanup เรื่องความก้าวหน้าการดำเนินโครงการการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพมหานครโดยใช้นวัตกรรมเครื่อง Interceptor ซึ่งเป็นเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ในแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเลและมหาสมุทรโดยขยะที่เก็บได้จะนำมาคัดแยกและนำไปรีไซเคิล ทั้งนี้ได้ติดตั้งเครื่อง Interceptor ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้สะพานพระราม 9 พื้นที่กรุงเทพมหานคร และขอความอนุเคราะห์จากกรุงเทพมหานครใช้พื้นที่และอำนวยความสะดวกในการนำขยะขึ้นที่จุดขนขยะที่คลังสินค้าราษฎร์บูรณะ และนำขยะไปจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและคุณภาพน้ำผลิตน้ำประปาดียิ่งขึ้น