สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 พ.ย. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ตรัง (112 มม.) จ.สตูล (75 มม.) และ จ.พังงา (61 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,778 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,884 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 54/2565 เรื่อง
เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.เพชรบุรี
จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา จ.ภูเก็ต
จ.กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และจ.สตูล
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง
กอนช. ติดตามการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทาน ได้เข้าไปสนับสนุนภารกิจเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่งหลังน้ำลด พร้อมจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
นำรถขุดตีนตะขาบขุดลอก ปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่วัง บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านแลง ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณหน้าประตูทดน้ำกลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ C1 ในเขตพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก บริเวณคลองนครเนื่องเขต บริเวณตลาดโบราณนครเนื่องเขต และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองนครเนื่องเขต ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เพื่อกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณบ้านหลุม หมู่ที่ 2 บริเวณบ้านวังครก-วังแดง หมู่ที่ 3 และบริเวณ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านหลุม อำเภอเมืองสุโขทัย ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลหน้าโคก อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเร่งระบายน้ำช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหาน้ำท่วม จนกว่าสถานการณ์
จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและปรับปรุงทัศนียภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณที่ขุดลอก จุดที่ 1 พื้นที่ขุดลอกบริเวณคลองส่งน้ำสาย 1R-LMC ฝายคลองเสาธง จุดที่ 2 พื้นที่ขุดลอกบริเวณคลองส่งน้ำสาย 1R-1R-LMC ฝายคลองเสาธง และจุดที่ 3 พื้นที่ขุดลอกบริเวณคลองส่งน้ำสาย LMC ฝายคลองเสาธง ขุดลอกวัชพืชและตะกอนดิน ความกว้างประมาณ 3 เมตร ความยาวรวมทั้งหมดประมาณ 9,452 เมตร
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ยังคงมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,778 ล้าน ลบ.ม. (76%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,884 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,737 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,157 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,151 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 65 ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,483 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,062 ล้าน ลบ.ม. (5%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 253 ล้าน ลบ.ม. (3%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปาส่วนภูมิภาค จัดอบรม On the job training การใช้งานโปรแกรมระบบบริหารจัดการการผลิตน้ำประปา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความเข้าใจให้กับพนักงาน กองระบบผลิตและควบคุมคุณภาพน้ำ กองแผนและวิชาการ และพนักงาน กปภ.สาขาอรัญประเทศ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการภายในสถานีผลิต การตรวจสอบข้อมูล Online ได้แบบ Real-time เพื่อให้การผลิตน้ำประปามีคุณภาพ และสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ต่อยอดผลการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น