สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 พ.ย. 65

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.สงขลา (167 มม.) จ.ระยอง (162 มม.) และ จ.สตูล (131 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,760 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,958 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 15 – 16 พ.ย. 65 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) จ.สงขลา (อ.สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ) จ.ยะลา (อ.ธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง) และ จ.ปัตตานี (อ.ยะหริ่ง)
2. ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี
3. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve)
วานนี้ (14 พ.ย. 65) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ตามนโยบายรัฐบาลโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน เร่งกักเก็บน้ำและจัดเตรียมแหล่งน้ำสำรอง พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์และคาดการณ์พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ส่วนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ให้หน่วยงานในพื้นที่เสนอแผนงานผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พิจารณา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และต้องเป็นแผนงานโครงการที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ การเสนอแผนงานโครงการ ได้แบ่งเป็น 5 ประเภทให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการ ได้แก่ 1.การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ 2.การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ 3.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค–บริโภค 4.การเพิ่มน้ำต้นทุน และ 5.การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 15 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรพลังงานแสงอาทิตย์ ณ บ้านโคกตะแบง หมู่ที่ 5 ตำบลดงเย็น อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ ณ บ้านเชียงกรม หมู่ที่ 14 ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี และยังได้ทำการแนะนำวิธีการใช้งานและการบำรุงรักษาให้แก่หน่วยงานผู้รับมอบ ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน รูปแบบที่ 2 ณ บ้านโพธิ์ทอง หมู่ที่ 7 ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกา ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,760 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,958 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,646 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,157 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,117 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาแนวคิด วิธีการในการวิเคราะห์และออกแบบข้อมูลภายใต้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(Actionable Intelligence Policy for Eastern Economic Corridor) หรือ AIP EEC เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC โดยที่ AIP สามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ใน EEC ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ AIP EEC จะสามารถนำมากำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้หลากหลาย