สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 65

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สงขลา (55 มม.) จ.ภูเก็ต (45 มม.) และ จ.พัทลุง (44 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,852 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,036 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 13 – 16 พ.ย. 65 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) จ.สงขลา (อ.สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ) จ.ยะลา (อ.ธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง) และ จ.ปัตตานี (อ.ยะหริ่ง)
2. ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี
3. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve)
กอนช.ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้
กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ดังนี้
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณบ้านวัดสน หมู่ที่ 3 และบริเวณวัดสน ตำบลวัดสน อำเภอระโนด สามารถสูบน้ำได้ 52,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิคขนาด 24 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำระวะ หมู่ที่ 4 ตำบลระวะ อำเภอระโนด สามารถสูบน้ำได้ 79,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาดท่อ 12 นิ้ว จำนวน 6 เครื่อง บริเวณริมคลองระบายน้ำ ร.1 (โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่) ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ สามารถสูบน้ำได้ 158,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาดท่อ 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณถนนเทศบาล 14 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด สามารถสูบน้ำได้ 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
กอนช.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 13 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินงานโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน รูปแบบที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 บ้านท่าข้าม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ให้การต้อนรับ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำได้เป็นอย่างดี และได้ขอรับการสนับสนุนโครงการน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชนเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ที่บ้านแพะ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮองสอน เนื่องจากชาวบ้านยังขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านตอนล่างของภาคใต้เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งของประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
2. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,852 ล้าน ลบ.ม. (76%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 36,036 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,659 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,157 ล้าน ลบ.ม. (62%)
2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,111 ล้าน ลบ.ม. (78%)
3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 65 – ปัจจุบัน)
3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,584 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,892 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 672 ล้าน ลบ.ม. (3%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 154 ล้าน ลบ.ม. (2%)
4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง
4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 08.58 น. ประมาณ 1.84 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวิเคราะห์แล้วพบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา