สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 พ.ย. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.สงขลา (152 มม.) จ.ยะลา (138 มม.) และจ.ปัตตานี (126 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,866 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,051 ล้าน ลบ.ม. (76%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 พ.ย. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,068 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 861 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลง
สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 12 พ.ย. 65 สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,902 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ +113.07 ม.รทก สูงกว่าระดับตลิ่ง +1.07 ม.รทก โดยมีแนวโน้มลดลง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศฉบับที่ 53/2565 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้พบว่ามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่างในช่วงที่ผ่านมา และมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มม.
โดย กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 13 – 16 พ.ย. 65 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) จ.สงขลา (อ.สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ) จ.ยะลา (อ.ธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง) และ จ.ปัตตานี (อ.ยะหริ่ง)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงที
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างสระเติมน้ำ โครงการทดแทนและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล โดยการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยตะเพิน พื้นที่บ้านหนองเข้ หมู่ที่ 7 ตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นตามแผนงาน แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถใช้สระเติมน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์ ลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ทดแทนและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืน
2. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,866 ล้าน ลบ.ม. (76%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 36,051 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,659 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,107 ล้าน ลบ.ม. (78%)
3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 65 – ปัจจุบัน)
3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,625 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,892 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 556 ล้าน ลบ.ม. (3%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 128 ล้าน ลบ.ม. (1%)
4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง
4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 08.17 น. ประมาณ 1.83 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวิเคราะห์แล้วพบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เดินหน้าโครงการ “การเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนบริหารจัดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน” ติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนและผลิตน้ำประปาพร้อมดื่มแจกจ่ายให้กับจังหวัดสงขลา ในพื้นที่ชุมชน อบต.บ้านขาว หมู่ที่ 2 และ 3 ระบุขณะนี้ครัวเรือนสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ที่ 0.437 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี