“อัครา” ลั่นพร้อมเปิดเหมืองทองคำ
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ “เหมืองทองอัครา” เร่งเดินหน้ายกเครื่องปรับปรุงเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรมภายในเหมืองใหม่หมด (Major Overhaul) พร้อมกับขับเคลื่อนนโยบาย “สร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชน” ประกาศรับสมัครพนักงานกำลังสำคัญของเหมือง เตรียมความพร้อมการกลับมาเปิดดำเนินการในช่วงต้นปี 2566
นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริหารองค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (อัครา) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการซ่อมแซมเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรมครั้งใหญ่ รวมถึงอาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในเหมืองที่ใช้ทุนประมาณ 500 ล้านบาท ว่าปัจจุบันดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 75% เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ซึ่งคาดว่าการจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้
นายวรงค์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ก่อนเปิดการทำเหมือง บริษัทฯ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้หน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน และต้องนําพนักงานเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ โดยหลังจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลแล้ว จึงจะสามารถเริ่มดําเนินการทําเหมืองได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องวางหลักประกันการฟื้นฟูการทำเหมือง และจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกองทุนต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1. กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ -บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 10% ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทฯ ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปีตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ
2. กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ – บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 3% ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทฯ ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปีตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ
3. กองทุนประกันความเสี่ยง – บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 3% ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทฯ ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปีตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ
4. กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ – บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทฯ ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปีตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ
ในขณะเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาเปิดดำเนินกิจการ บริษัทฯ จึงได้เริ่มทยอยรับสมัครพนักงานเบื้องต้นประมาณ 160 อัตรา เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานระยะแรกซึ่งจะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียวเท่านั้น ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านตันต่อปี โดยภายหลังที่บริษัทฯ กลับมาดำเนินการไปแล้วสักระยะหนึ่ง จึงจะเริ่มซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.3 ล้านตันต่อปี และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจนสามารถกลับมาใช้งานได้แล้ว บริษัทฯ จะรับพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับปริมาณงานที่มากขึ้นต่อไป โดยรวมแล้วจะก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาร่วม 1,000 อัตรา
ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศเรื่องการรับสมัครพนักงาน ปรากฎว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีประชาชนมาดาวน์โหลดและรับใบสมัครแล้วกว่า 1,000 ราย ในการนี้ นายวรงค์ ย้ำว่า “ผู้ที่มีคุณสมบัติที่บริษัทฯ ต้องการและภูมิลำเนาในพื้นที่จะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะเป็นนโยบายที่มีมาตั้งแต่ต้น บนความตั้งใจที่จะเติบโตไปพร้อมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน และขอขอบคุณผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองสำหรับความเชื่อมั่นและการสนับสนุนในการกลับมาของบริษัทฯ ด้วยเชื่อว่าบริษัทจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา เมื่อเหมืองกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มกำลังแล้ว ก็จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศ การชำระค่าภาคหลวงและภาษี และการสร้างงาน”