“อินเดีย” สนใจลงทุนไทย”
เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยหารือความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ณ สศช. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ให้การต้อนรับและร่วมหารือเรื่องความร่วมมือภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) กับ H.E. Mrs. Suchitra Duria เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ณ ห้องสุนทร หงส์ลดารมภ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่และผู้ติดตามจากสถานทูตอินเดียประจำ ประเทศไทยและสศช. เข้าร่วมทั้งหมด 4 ท่าน Mrs. Suchitra Duria แสดงความสนใจถึงรูปแบบกลไกการดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ที่ สศช. รับผิดชอบในฐานะฝ่ายเลขานุการระดับชาติของประเทศไทย และสอบถามถึงการเชิญอินเดียเป็น ประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) กับแผนงาน IMT-GT รวมทั้งประเด็นที่มีศักยภาพที่ทั้งสองฝ่ายจะสร้าง ความร่วมมือกันได้
ดร. ปัทมา ได้อธิบายถึงภาพรวมการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นไปสู่การบรรลุ เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 (Vision 2036) เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นอนุภูมิภาคแห่งการบูรณาการ ใช้นวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และมีความยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของ ประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในลักษณะที่เกื้อกูลกัน แผนงาน IMT-GT มีกลไกการดำเนินงานผ่าน 7 สาขาความร่วมมือ
ประกอบด้วย (1) เกษตรและ อุตสาหกรรมการเกษตร (2) การท่องเที่ยว (3) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (4) การเชื่อมโยงด้านคมนาคมและ ไอซีที (5) การค้าและการลงทุน (6) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา และวัฒนธรรม และ (7) สิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ผ่านการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการ จังหวัด (Chief Ministers and Governors Forum: CMGF) รวมไปถึงการมีศูนย์ประสานงานความร่วมมือ อนุภูมิภาคแผนงาน IMT-GT (Centre for IMT-GT Subregional Cooperation: CIMT) ทำหน้าที่เป็นฝ่าย เลขานุการกลางของสามประเทศสมาชิก แนวทางการร่วมเป็นประเทศคู่เจรจากับแผนงาน IMT-GT ของอินเดียอาจเป็นได้ 2 แนวทาง
คือ (1) การเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือแผนงาน IMT-GT ที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุม ถึงโอกาสการเชื่อมต่อกับอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยวที่สามารถใช้ประโยชน์จากการมีพื้นที่ ใกล้ชิดกันระหว่างหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดียกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงใน IMT-GT อาทิ ภูเก็ต กระบี่ ปีนัง ลังกาวี มะละกา และซาบัง
(2) การให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ CIMT อาทิ การฝึกอบรม และการสนับสนุนทางวิชาการ เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องร่วมกันใน 2 ประเด็นที่จะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ประกอบด้วย (1) การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างกัน เนื่องจากพื้นที่หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่แผนงาน IMT-GT จึงเป็นโอกาสในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน และ (2) การเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่แผนงาน IMT-GT กำลังมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวน มาก
โดยเฉพาะไทยที่กำลังผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกระนอง และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับประเทศเมียนมา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการค้าและการลงทุนระหว่างกัน