สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 พ.ย. 65

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ชุมพร (77 มม.) จ.ยะลา (51 มม.) และ จ.พิษณุโลก (46 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 49,979 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,154 ล้าน ลบ.ม. (76%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 พ.ย. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,153 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 981 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลง
สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 9 พ.ย. 65 สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,028 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ +113.28 ม.รทก สูงกว่าระดับตลิ่ง +1.28 ม.รทก โดยมีแนวโน้มลดลง คาดกว่าช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจะกลับสู่ภาวะปกติ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และแม่น้ำท่าจีน จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในวันที่ 11, 26 พ.ย. 65 และในช่วงวันที่ 9 – 10, 15 – 26 ธ.ค. 65 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันทีติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมประชุมกับเทศบาลตำบลบ้านบาก เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านบาก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีประชาชนเดือดร้อนจำนวน 8 หมู่บ้าน 723 ครัวเรือน
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคตะวันออก สำหรับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 – 15 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลจีนใต้ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,979 ล้าน ลบ.ม. (76%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 36,153 ล้าน ลบ.ม. (76%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,671 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,106 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8 – 11 พ.ย. 2565 จำนวน 6 เวที ได้แก่ จังหวัดเลย บึงกาฬ อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และภาคประชาชนในพื้นที่ สำหรับนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างผังน้ำ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งต่อไป