ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ พุ่ง 5 เดือนติดต่อกัน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนต.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 91.8 ในเดือนก.ย. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ทั้งนี้องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังภายหลังสถานการณ์ระบาดทั่วโลกคลี่คลายลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกประเทศคู่ค้าเริ่มสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการดูแลพลังงานของภาครัฐ รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตามปัจจัยลบในเดือนนี้ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อคมนาคมและขนส่งสินค้ารวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้าง นอกจากนี้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,310 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนต.ค. 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน 63.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.7% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 69.8% เศรษฐกิจในประเทศ 41.0% สถานการณ์การเมือง 38.0% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 33.4% และสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 30.8% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวลดลง จาก 101.8 ในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. เสนอให้ภาครัฐเตรียมแผนรับมือและป้องกันปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำ การบูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ตลอดจนออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100%
2. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง ท้ายปี 2565 อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี 30,000 บาท โครงการคนละครึ่งเฟส 6 วงเงิน ขั้นต่ำ 3,000 บาท รวมทั้งเพิ่มจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็น 2 ล้านสิทธิ์ เป็นต้น
3. เสนอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนม.ค.- เม.ย. 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รวมทั้งเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids
ส.อ.ท. มุ่ง “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”